สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : ฝีคัณฑสูตร กับสมุนไพร

ฝีคัณฑสูตร อีกปัญหาที่สร้างความทรมานให้กับผู้ป่วย และลำบากในการใช้ชีวิต ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อของต่อมภายในทวารหนัก ทำให้มีเชื้อแบคทีเรีย อุจาระ และของเสียหมักหมมเกิดเป็นฝีหนอง หนองที่มีปริมาณมากขึ้นก็จะค่อยๆเซาะไปตามชั้นของกล้ามเนื้อของทวารหนัก ฝีคัณฑสูตรจึงทะลุมาชั้นของผิวหนังที่อยู่บริเวณรอบๆทวารหนัก จนกระทั่งหนองแตกทะลุออกสู่ภายนอก กลายเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างช่องในทวารหนักกับผิวหนัง เรียกว่า Fistula ฝีคัณฑสูตรพบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง แต่มักพบในผู้ชายได้มากกว่าประมาณ 2-3 เท่า

อาการที่มักพบ คือ มีอาการปวดและบวมบริเวณแก้มก้น หรือบริเวณปากทวารหนัก มีน้ำเหลืองซึมออกมาจากรูที่ผิวหนัง บางรายอาจมีเลือดปน หรือเป็นหนอง มีอาการคันบริเวณรูที่เป็น และรอบๆ บริเวณที่เป็นมักเกิดการอักเสบแดง

การดูแลรักษาทำได้หลายวิธีหากเป็นมากแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดรักษา เพื่อป้องกันการติดเชื้อ สำหรับสมุนไพรทางเลือก ที่สามารถใช้ได้นั้น แนะนำในรายที่เริ่มมีอาการ โดยใช้สมุนไพรกลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ แก้น้ำเหลืองเสียในทางแผนไทย และช่วยระบายอ่อนๆ คล้ายกับการใช้สมุนไพรในผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวารหนัก

สมุนไพรทางเลือกเสริม

  1. หญ้าปักกิ่ง สมุนไพรฤทธิ์เย็น โดดเด่นเรื่องการต้านอักเสบ เสริมภูมิคุ้มกัน ยาเย็น ทางแผนไทยใช้แก้น้ำเหลืองเสีย หรือโรคทางผิวหนัง โรคเรื้อรังที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบน้ำเหลือง และของเหลวในร่างกาย รุปแบบแนะนำรับประทานครั้งละ 2-3 แคปซูล ก่อนอาหารสามมื้อ เช้า กลางวัน เย็น
  2. เพชรสังฆาต สมุนไพรสำหรับริดสีดวงทวาร มีฤทธิ์ระบายอ่อนๆ ฤทธิ์ต้านอักเสบ ฟลาโวนอยด์สูงช่วยให้หลอดเลือดดำแข็งแรง แนะนำรับประทานครั้งละ 3 แคปซูล หลังอาหารสามมื้อ เช้า กลางวัน เย็น
  3. ขมิ้นชัน โดดเด่นเรื่องการลดการอักเสบ เสริมภูมิคุ้มกัน เสริมการรักษาช่วยให้แผลแห้งไวขึ้น รับประทานครั้งละ 1-2 แคปซูล หลังอาหารสามมื้อ เช้า กลางวัน เย็น
  4. ยาทาภายนอกที่ช่วยลดการอักเสบ มีข้อมูลการใช้ พญายอ หรือสเลดพังพอนตัวเมีย พบว่าช่วยลดภาวะผิวหนังอักเสบได้ดี แต่ควรใช้ในกรณีที่ไม่เป็นแผลเปิดหรือมีหนองแฉะ หากมีภาวะแผลเปิด แฉะ ควรใช้ เปลือกมังคุดและขมิ้นชันต้มน้ำ นำยาที่ได้เป็นยาแช่เฉพาะที่ เอาก้นแช่ในน้ำยาทำทุกวันจนกว่าแผลจะแห้ง

อาหารแสลงต่อโรคน้ำเหลือง

แนะนำให้งดอาหารที่แสลงต่อโรค ในทางการแพทย์แผนไทยมองว่า จะยิ่งทำให้ไปเพิ่ม ปิตตะ หรือความร้อนในร่างกาย และส่งเสริมการอักเสบ ทำให้น้ำเหลืองไม่แห้ง เช่น ปลาไม่มีเกล็ดทุกชนิด ปลาดุก ปลาไหล ปลาช่อน ปลาหมอ อาหารทะเล ของหมักดอง ของมันของทอด อาหารรสจัด อาหารไขมันสูง หน่อไม้ ข้าวเหนียวเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด การพักผ่อนน้อย ควรรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงช่วยระบบขับถ่าย

วิธีป้องกันเบื้องต้น

  • การป้องกันไม่ให้เกิดแผลบริเวณปากทวารหนัก เช่น ระวังการเกิดอุบัติเหตุบริเวณทวารหนัก การป้องกันการเกิดแผลปริที่ปากทวารหนัก และป้องกันการติดเชื้อต่างๆ
  • ใช้กระดาษชำระที่อ่อนนุ่มในการทำความสะอาด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลบริเวณปากทวารหนัก
  • รักษาความสะอาดบริเวณปากทวารหนักอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อในบริเวณปากทวารหนัก
  • ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว รับประทานผักและผลไม้ให้มากๆ เพื่อป้องกันอาการท้องผูก ทานอาหารที่มีกากใยเพิ่มเพื่อช่วยในการขับถ่าย
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ลำไส้เกิดการเคลื่อนที่ได้ดีขึ้น
  • เมื่อมีแผลที่บริเวณปากทวารหนัก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ควรปล่อยไว้ให้เกิดเป็นแผลเรื้อรัง
  • เบื้องต้นให้รับประทานยาสมุนไพรและดูแลตนเองต่อเนื่องพร้อมปรับพฤติกรรมตามที่แนะนำอย่างน้อย 1 เดือน แล้วสังเกตอาการ

ปรึกษาหมอออนไลน์ : https://lin.ee/47PRVjiFz

ชมคลิป : https://youtu.be/KSjlBNBQ6wo