หวานเป็นลม ขมเป็นยา “ฟ้าทะลายโจร”

สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงส่งผลต่อความสมดุลภายในร่างกาย อาจทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด น้ำมูกไหล ภูมิแพ้อากาศ ไอ จาม คัดจมูก และอาจมีไข้ ตามศาสตร์แพทย์แผนไทย มักแนะนำให้บริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรรสเปรี้ยว ขม และเผ็ดร้อน สมุนไพรรสเปรี้ยวจะช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ ทำให้ชุ่มคอ เช่น มะนาว มะขาม ผักติ้ว ใบชะมวง ส่วนสมุนไพรรสขมช่วยแก้ไข้ ต้านการอักเสบ เช่น ดอกแค ขี้เหล็ก สะเดา มะแว้งต้น มะแว้งเครือ มะเขือพวง และสมุนไพรรสเผ็ดร้อนเพิ่มความอบอุ่นร่างกาย ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนสะดวก เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ แมงลัก กะเพรา กระเทียม

แต่หากมีอาการไข้ เป็นหวัด เจ็บคอ สมุนไพรอีกตัวที่หลาย ๆ คน นึกถึง คือ ฟ้าทะลายโจร โดยที่ผ่านมานักวิชาการ นักวิจัย ให้ความสนใจสมุนไพรฟ้าทะลายโจรกันมาก ร่วมกันพัฒนาต่อยอดสมุนไพร    สู่การใช้ประโยชน์ หลังพบว่า ฟ้าทะลายโจร รักษากลุ่มอาการหวัด เจ็บคอได้ผลดี และถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2549 โดยมีข้อบ่งชี้ว่าสามารถบรรเทาอาการเจ็บคอ และอาการของโรคหวัด เช่น เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้ำมูกไหล การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของฟ้าทะลายโจรพบว่า สารสำคัญคือสาร Andrographolide และอนุพันธ์ของสารนี้ มีฤทธิ์ ลดการบีบตัวของลำไส้ ต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย ช่วยรักษาอาการไอ เจ็บคอ ป้องกันและบรรเทาหวัด

ปัจจุบันฟ้าทะลายโจรมีการผลิตในรูปของยาบดผงแคปซูล และรูปแบบสารสกัด การรับประทานก็ให้สังเกตข้างกล่องยา เพราะจะระบุขนาดการใช้ไว้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ยาทุกชนิดมีข้อควรระวังในการใช้ทั้งสิ้น ยาฟ้าทะลายโจร

– ควรหลีกเลี่ยงในสตรีมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร และผู้ที่เคยแพ้ฟ้าทะลายโจรมาก่อน

– ควรระวังในการใช้ยานี้ร่วมกับ ยาวาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล ยาลดความดันโลหิต

– หากใช้ติดต่อกัน 3 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างการใช้ยา ควรหยุดใช้และไปพบแพทย์ทันที

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว คำพังเพยที่ว่า หวานเป็นลม ขมเป็นยา อาจทำให้หลาย ๆ คน ต่างนึกถึงยา ฟ้าทะลายโจรกันขึ้นมาบ้าง แล้วอย่าลืมหาซื้อ “ฟ้าทะลายโจร” ไว้ประจำบ้านกันด้วยนะคะ