ชุมชนท้องถิ่น รู้รับ ปรับตัว สู้ภัยโควิด-19

“สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างทางสังคม” ข้อปฏิบัติสำคัญที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปเสียแล้ว เมื่อโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

เชื่อว่าหลายคนร่วมลุ้นและติดตามข่าวในทุกๆ วันที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ได้แจ้งยอดจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันนี้ได้มีผู้ติดเชื้อกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ทำให้หลายจังหวัดเป็นพื้นที่สีแดงและควบคุมสูงสุดไปแล้ว

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถือเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชน และทุกวันนี้ต้องทำงานรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเต็มกำลัง เพื่อให้ทุกคนในพื้นที่ปลอดภัยจากการระบาดของโควิด-19 ดังนั้น เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ จึงเกิดการเสวนาออนไลน์เวที “ชุมชนท้องถิ่น รู้รับ ปรับตัว สู้ภัยโควิด-19” โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

ในการเสวนาครั้งนี้ ได้ร่วมพูดคุยกับ อปท.ในจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ประกอบด้วย อบต.โละจูด  อ.แว้ง จ.นราธิวาส, อบต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล และ อบต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ สสส.ขอชวนติดตามไปพร้อมกันว่าแต่ละพื้นที่มีแนวทางในการปรับตัวเพื่อสู้กับการระบาดในครั้งนี้อย่างไร

นายอาซัน สือนิล นายก อบต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา เล่าว่า เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเร่งหารือกับหน่วยงานในพื้นที่ได้แก่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ภาคเอกชน และชุมชน ในการเฝ้าระวัง ทั้งยังเร่งสร้างความตระหนักและกระตุ้นมาตรการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆและเว้นระยะห่าง รวมทั้งเคาะประตูตามบ้านและร้านค้า ให้ช่วยกันเฝ้าระวังและป้องกัน ซึ่งคนในชุมชนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ในส่วนของการบริหารช่องทางการสื่อสารกับคนในชุมชน นายอาซันเล่าว่า ใช้แอปพลิเคชันไลน์ในการกระจายความรู้ ข่าวสาร รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านมัสยิดในวันศุกร์ที่มีการละหมาด โดยขอความร่วมมือกับผู้นำศาสนา และเด็กและเยาวชนในพื้นที่ที่จะเป็นแบบอย่างรณรงค์ในชุมชน

ด้านนายซูลกีฟรี เจ๊ะมามะ นายก อบต.โละจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส ซึ่งพื้นที่ติดกับประเทศมาเลเซีย ยอมรับว่ามีความกังวลในการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ ดังนั้น จึงมีขั้นตอนในการปฏิบัติของกลุ่มเสี่ยงหากจะเข้าพื้นที่โละจูด คือ ต้องไปรายงานตัวที่สาธารณสุขอำเภอก่อน เพื่อที่จะได้ประเมินว่าจะให้กลับบ้านหรือให้ไปกักตัวที่ศูนย์เพื่อรอดูอาการ ส่วนคนที่ได้กลับบ้าน ก็มีก็จะ อสม.เข้าไปตรวจวัดไข้ และติดตามการกักตัว

นอกจากนี้ ยังมีการปรับตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากไม่สามารถออกนอกพื้นที่ได้ โดยใช้การสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสาย และยังเชิญให้บุคลากรที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มาให้ความรู้แก่ประชาชนอีกด้วย อีกหนึ่งพื้นที่ภาคใต้ที่ต้องยอมรับว่ามีการรับมือและเตรียมความพร้อมที่ดีเยี่ยมมาก เพราะเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ครั้งก่อน ที่นี่ถือได้ว่า เป็นจังหวัดที่ 77 ของประเทศไทยที่พบผู้ติดเชื้อวิด-19 นั่นคือ จ.สตูล

นายจำรัส ฮ่องสาย นายก อบต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล เล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า ทุกวันนี้อุปกรณ์พร้อม และผู้นำพร้อมที่จะรับมือกับโควิด-19 ในครั้งนี้ เนื่องจากมีการปรับตัวและกระตุ้นการป้องกันมาตั้งแต่การแพร่ระบาดของวิด-19 ในรอบแรก  โดยใช้มาตรการ “ตรวจ วัด คัดกรอง” ซึ่งเป็นขั้นตอนการทำงานของชุมชนแห่งนี้ โดยมีการคัดกรองและกักตัวผู้ที่เข้ามาในพื้นที่ รวมทั้งคนในพื้นที่ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลอีกด้วย

นับว่ากลไกการจัดการและรับมือโควิด-19 ของท้องถิ่น เป็นเครื่องมือและตัวช่วยในการจัดการการระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ จะสำเร็จไม่ได้หากสมาชิกในชุมชนไม่ให้ความร่วมมือ ที่สำคัญการรับผิดชอบส่วนตัวเป็นสิ่งที่ทุกคนละเลยไม่ได้ นั่นคือ สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างทางสังคม และไม่ปกปิดข้อมูลอีกด้วย

ผู้สนใจข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการการดูแลและปฏิบัติตนในการป้องกันโควิด-19 สามารถติดตามได้ที่…www.thaihealth.or.th/ไทยรู้สู้โควิด