นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การดำเนินงานของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับแรงงานทุกคน ทุกภาคส่วน และมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน ให้มีหลักประกันทางสังคมที่มั่นคงรวมถึงมีความปลอดภัยอาชีวะอนามัยในการทำงาน ที่มีตามมาตรฐานสากล ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีความห่วงใยต่อภาวะวิกฤตจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้กำชับให้ นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ดูแลช่วยเหลือผู้ประกันตนในระบบกองทุนประกันสังคม มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ให้พ้นวิกฤติการณ์ไปให้ได้
สำหรับ ในวันแรงงานแห่งชาติปี 2564 ในวันที่ 1 พฤษภาคม นี้ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินการทำงานเชิงรุกเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตน โดยมีปรับปรุงเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อผู้ประกันตน ดังนี้ ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร ให้กับผู้ประกันตนที่มีบุตรอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี ให้มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มจากเดิม 600 บาท เป็น 800 บาทต่อคน โดยจ่ายคราวละไม่เกิน 3 คนเพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกันตนที่มีบุตร กรณีคลอดบุตรปรับเพิ่มเป็น 15,000 บาท (เดิม 13,000 บาท) ปรับเพิ่มค่าฝากครรภ์ เป็น 5 ครั้ง รวมเป็น 1,500 บาท (เดิม 3 ครั้ง 1,000 บาท)ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกันสังคมเรื่องหลักเกณฑ์และอัตราค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน พ.ศ.2563ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564ด้านการส่งเสริมสุขภาพ สำนักงานประกันสังคมได้ออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์ เพิ่มสิทธิผู้ประกันตนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปให้มีสิทธิได้รับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่ 1 พ.ค. – 31 ส.ค.
ซึ่งผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการได้เป็นประจำทุกปี กรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยหน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ซึ่งมีผลกระทบให้ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้นโดยให้ลูกจ้างซึ่งไม่ได้รับค่าจ้าง มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างโดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่ ทั้งนี้ ภายในระยะเวลา 1ปีปฏิทินมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยรวมกันไม่เกิน 90 วัน
ปรับลดเงินสมทบฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เหลือร้อยละ 3 และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ลดลงเหลือ 278 บาท ในเดือนมกราคม 2564 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้าง และผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจพร้อมกันนี้คณะรัฐมนตรียังมีมติปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้คงการลดเงินสมทบนายจ้าง เหลือร้อยละ 3 ผู้ประกันตนมาตรา 33 ลดเงินสมทบเหลือร้อยละ 0.5 และผู้ประกันตนมาตรา 39 ลดเหลือ 38 บาท (จากที่จ่ายเดือนละ 432 บาท) เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่งวดเดือน กุมภาพันธ์ – มีนาคม 2564เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่
ในการนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศ กระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาแสดงความจำนงเป็นผู้ประกันตน และการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้ผู้ประกันตนได้มีโอกาสกลับเข้าสู่ระบบประกันสังคม และได้รับสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่องโดยเห็นชอบให้กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม ได้เสนอให้มีการขยายระยะเวลา รับสมัครผู้ประกันตน 33 ที่สิ้นสภาพแล้ว 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 หากประสงค์อยู่ในระบบประกันสังคมต่อไป สามารถแสดงความจำนงเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ภายใน 30 มิถุนายน 2564 พร้อมขยายกำหนดเวลาให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 สามารถนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม สำหรับเงินสมทบที่ต้องนำส่งประจำงวดเดือนมีนาคม 2563 ถึงงวดเดือนพฤษภาคม 2564 ให้นำส่งภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2564
โครงการ ม33เรารักกันโดยรัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตนให้ได้รับสิทธิคนละ 4,000 บาท ทั้งนี้ผู้ประกันตนสามารถใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการผ่านร้านค้า/ผู้ประกอบการ/บริการ ในร้านธงฟ้าที่ใช้ Application “ถุงเงิน” หรือภายใต้โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราชนะ” ได้ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 นี้
โครงการตรวจคัดกรองโควิด-19 เพื่อผู้ประกันตนแบบบูรณาการ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้บูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก ภายใต้โครงการ“แรงงาน…เราสู้ด้วยกัน” เป้าหมายเพื่อดูแลผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40โดยเพิ่มช่องทางบริการตรวจเชื้อให้กับผู้ประกันตนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในพื้นที่ในกรุงเทพฯ และขยายไปสู่จังหวัด นนทบุรี ปทุมธานี ชลบุรี เชียงใหม่ และสมุทรปราการเพื่อลดปัญหาความแออัดการตรวจคัดกรองในโรงพยาบาลและให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในตอนท้ายว่า การมอบของขวัญให้กับผู้ใช้แรงงานในปี 2564 นี้ กระทรวงแรงงานมีความมุ่งมั่นให้แรงงานมีหลักประกันที่มั่นคง เพื่อให้ผู้ประกันตนมีความมั่นใจว่ากระทรวงแรงงานจะดูแลผู้ประกันตน และพร้อมพัฒนางานด้านประกันสังคมให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานปรัชญาการพัฒนาแบบยั่งยืนเพื่อให้เกิดความมั่นคงต่อชีวิตและสุขภาพของผู้ประกันตนต่อไป
———————————————
ศูนย์สารนิเทศ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน