วันที่ 30 เมษายน วันคุ้มครองผู้บริโภคอย. ห่วงใยสุขภาพผู้บริโภค จัดการโฆษณา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และสถานประกอบการผิดกฎหมายกว่า 1,000 คดี เป็นเงินค่าปรับกว่า 17 ล้านบาท แนะช่องทางให้ผู้บริโภคตรวจสอบเลข อย. ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพ เตือนผู้ประกอบการหากพบการกระทำความผิด อย.พร้อมดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด
นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า วันที่ 30 เมษายน ของทุกปีเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวันที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคจากการใช้สินค้าและบริการต่าง ๆ และให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมเพราะที่ผ่านมามีผู้บริโภคจำนวนมากถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือรู้ไม่เท่าทันกลยุทธ์การโฆษณา ทำให้หลงเชื่อจนสร้างความเสียหายและอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพได้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่คุ้มครองดูแลสุขภาพของประชาชนจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพโดยการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพให้มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีประสิทธิผลได้ยืนหยัด มุ่งมั่นดำเนินงานเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคมาโดยตลอด
ซึ่งตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (เดือนตุลาคม 2563 – มีนาคม 2564) อย. ได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิด ทั้งคดีโฆษณา ผลิตภัณฑ์ และสถานประกอบการ ด้วยสาเหตุ เช่น โฆษณาแสดงสรรพคุณเป็นเท็จ หลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควรในเรื่องการบำบัด บรรเทา รักษาโรค, เป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลอมหรืออาหารไม่บริสุทธิ์ ข้อมูลบนฉลากผลิตภัณฑ์ไม่ถูกต้อง และผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้นรวม 1,005 คดี เป็นเงินเปรียบเทียบปรับ 17,080,950 บาท และสั่งระงับโฆษณาทางสื่ออีมาร์เก็ตเพลส จำนวน 4,330 รายการ
รวมทั้งส่งต่อหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เป็นต้น เพื่อดำเนินการบังคับใช้กฎหมายในส่วนของหน่วยงานนั้น ๆ และจัดทำข้อมูลสื่อสารเพื่อเตือนภัยผู้บริโภค
ทั้งนี้อย. ขอแนะผู้บริโภคให้ระวังและตรวจสอบก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพใดๆ โดยสำหรับตัวผลิตภัณฑ์สามารถตรวจสอบสถานะเลข อย. ผ่าน 4 ช่องทาง คือ Line : FDAthai, ORYOR Smart Application, เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th และเว็บไซต์ www.oryor.com หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ E-mail:1556@fda.moph.go.th หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือแจ้งไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า อย. มีความห่วงใยผู้บริโภค โดยจะดำเนินการตรวจสอบ เฝ้าระวังการโฆษณา รวมไปถึงคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างเข้มข้นต่อไป เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพปลอดภัย สมประโยชน์ และขอเตือนผู้ประกอบการหาก อย. พบการกระทำความผิด พร้อมดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด
*******************************************
วันที่เผยแพร่ข่าว 30 เมษายน 2564 / ข่าวแจก 107 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564