ปภ.ทดสอบระบบส่งสัญญาณแจ้งเตือนภัย เฝ้าระวังภัย – พร้อมแจ้งเตือนภัยทุกพื้นที่เสี่ยง

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ทดสอบระบบความพร้อมของระบบสัญญาณแจ้งเตือนภัย ณ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นประจำทุกวันเวลา 09.00 น. รวมถึงทดสอบการส่งสัญญาณแจ้งเตือนภัยไปยังหอเตือนภัยและอุปกรณ์เตือนภัย 1,450 แห่งทั่วประเทศ ในรูปแบบสัญญาณเสียงเพลงชาติไทยเป็นประจำทุกวันพุธ เวลา 08.00 น. โดยเริ่มทดสอบฯ ครั้งแรกแล้วเมื่อวันพุธที่ 28 เม.ย. 64 เพื่อเตรียมพร้อมระบบสัญญาณแจ้งเตือนภัย
ให้ใช้งานได้ตลอดเวลาและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชน

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการวางระบบพยากรณ์และเตือนภัยล่วงหน้าในพื้นที่เสี่ยงภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัยของประเทศให้มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล โดยมุ่งปรับปรุงและจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือและเทคโนโลยี
ด้านการเตือนภัยมาสนับสนุนการแจ้งเตือนภัยให้มีความแม่นยำ รวมถึงขยายช่องทางการสื่อสารเพื่อการแจ้งเตือนภัยให้เข้าถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้ติดตั้งระบบแจ้งเตือนภัยครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศ จำนวน 1,450 แห่ง แยกเป็น หอเตือนภัย 328 แห่ง หอเตือนภัยขนาดเล็ก 674 แห่ง สถานีถ่ายทอดสัญญาณ (CSC) 285 แห่ง และเครื่องรับสัญญาณ (EVAC) 163 แห่ง

ซึ่งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติจะตรวจสอบความพร้อมของระบบสัญญาณแจ้งเตือนภัยเป็นประจำทุกวันเวลา 09.00 น.และทดสอบส่งสัญญาณเสียงผ่านดาวเทียมโดยตรงจากระบบควบคุมการแจ้งเตือนภัย ณ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติไปยังหอเตือนภัยและอุปกรณ์เตือนภัยทั่วประเทศ ในรูปแบบสัญญาณเสียงเพลงชาติไทยเป็นประจำทุกวันพุธ เวลา 08.00 น. เพื่อเตรียมพร้อมระบบสัญญาณแจ้งเตือนภัยให้ใช้งานได้ตลอดเวลา และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชน สำหรับการทดสอบสัญญาณเตือนทั่วประเทศเป็นครั้งแรกในวันพุธที่ 28 เมษายน 2564 พบว่า มีจังหวัดที่ติดตั้งระบบสัญญาณแจ้งเตือนภัยทั้งหมด 70 จังหวัด สัญญานเตือนภัยใช้งานได้ทุกพื้นที่ จำนวน 56 จังหวัดระบบขัดข้องบางพื้นที่ จำนวน 14 จังหวัด ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะดำเนินการแก้ไขในส่วนที่ระบบขัดข้องให้พร้อมใช้งานได้โดยเร็ว