ฝนหลวงฯ เร่งสำรวจความต้องการน้ำของข้าวนาปี และช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.นครราชสีมา

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จ.บุรีรัมย์ ประสานงานกับเกษตรกรผู้ขอรับบริการฝนหลวงและอาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ จ.นครราชสีมา เนื่องจากในพื้นที่ อ.พระทองคำ อ.ด่านขุนทด อ.โนนไทย อ.โนนสูง และ อ.ขามสะแกแสง จ.นครราชสีมา ขณะนี้มีการเตรียมแปลงนาเพื่อทำการหว่านข้าว จำนวน 3,000 ไร่ แต่ต้องเผชิญกับปัญหาดินเค็มในทุกปี ทำให้เกษตรกรได้มีการร้องขอรับบริการฝนหลวงเพื่อลดปัญหาความเค็มของพื้นที่ในนาข้าว เพื่อให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ นอกจากนี้ในพื้นที่อื่นๆได้มีการเตรียมการไถนาสำหรับปลูกข้าวนาปีและบางพื้นที่ได้ทำการหว่านข้าวเรียบร้อยแล้ว

หลังจากนั้นศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา ได้มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงในวันที่ 28 เมษายน 2564 จำนวน 2 ภารกิจ เวลา 13:21 น. ในขั้นตอนที่ 1 ขั้นตอนที่ 2 ขั้นตอนที่ 3 และขั้นตอนที่ 4 โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าว และได้รับรายงานจากอาสาสมัครฝนหลวง พบว่ามีฝนตกปริมาณ 20.0-50.0 มิลลิเมตร ทำให้เกษตรกรสามารถเริ่มหว่านข้าวได้ รวมทั้งได้รับรายงานจากผู้นำชุมชนในพื้นที่ อ.พระทองคำ จ.นครราชสีมา ว่าเริ่มมีน้ำไหลเข้าอ่างน้ำในชุมชนที่ใช้ทำประปาหมู่บ้าน

ทั้งนี้ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา ยังได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรของ จ.นครราชสีมา และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนมูลบน เขื่อนลำแชะ ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณพื้นที่การเกษตร จ.นครราชสีมา(ครบุรี วังน้ำเขียว ปากช่อง) และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนมูลบน เขื่อนลำแชะ จ.นครราชสีมา อย่างไรก็ตาม หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการวางแผนช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป

สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 29 เมษายน 2564 ขึ้นปฏิบัติการ 3 หน่วยฯ โดยหน่วยฯ จ.จันทบุรี ช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและพื้นที่การเกษตรและอ่างเก็บน้ำ จ.ฉะเชิงเทรา หน่วยฯ จ.อุบลราชธานี ช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค พื้นที่การเกษตร และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง และขนาดใหญ่ จ.อุบลราชธานี และ จ.ศรีสะเกษ หน่วยฯ จ.เชียงใหม่ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.ลำปาง รวมถึงพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนกิ่วคอหมา และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำใช้การต่ำกว่า 30%

แต่อย่างไรก็ตาม หน่วยปฏิบัติการ ฝนหลวงฯอีก 10 หน่วยฯ ในช่วงเช้านี้ยังคงมีการติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง หากสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง พร้อมจะช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทันที ทั้งนี้พี่น้องประชาชนสามารถขอรับบริการฝนหลวงได้ทางเพจ Facebook, Line official account, Instagram, Twitter, เว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร หรือโทรศัพท์ 02-109-5100 และติดตามรับชมรายการ “ใต้ปีกฝนหลวง” วันนี้เวลา 13.00 น. ได้ทางช่อง YouTube กรมฝนหลวงและการบินเกษตร