ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Happy Workplace โครงการพัฒนาภาคีขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะ” ในการประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4/2564 ว่า สสส. ริเริ่มนวัตกรรมแนวคิดองค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) มาตั้งแต่ปี 2547 มีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญต่อการพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรสุขภาวะบนพื้นฐานความสุข 8 ประการ (Happy 8)
ปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ร่วมสานพลังนำนวัตกรรมไปแนวคิด Happy Workplace ไปใช้เป็นนโยบายขององค์กร หรือจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร กว่า 10,000 แห่ง ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับ ส.อ.ท. พัฒนาต้นแบบองค์กรแห่งความสุขในกลุ่มอุตสาหกรรม 6 กลุ่ม ในบริษัทกว่า 600 แห่ง และสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 9 พื้นที่ ครอบคลุม 33 จังหวัด ซึ่งถือเป็นภาคีเครือข่ายที่มีความเข้มแข็ง ทำให้คนวัยทำงานมีความสุขในการทำงาน และตระหนักถึงความสำคัญเรื่องสุขภาวะ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ สสส. ได้รับเลือกให้ได้รับรางวัลเนลสันแมนเดลา ประจำปี 2564 ขององค์การอนามัยโลก เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
“สสส. มุ่งเน้นการขับเคลื่อนนวัตกรรมแนวคิด Happy Workplace ผ่านทางผู้บริหาร ส.อ.ท. ที่จะเป็นแรงสนับสนุนเพิ่มตัวคูณขยายในวงกว้าง เพื่อให้บุคลากรภาคแรงงานไทย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ได้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น โดยมีเป้าหมายให้เกิดการขยายต้นแบบ การขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะในกลุ่มอุตสาหกรรมเพิ่มจากเดิมอีก 6 กลุ่ม รวมเป็น 12 กลุ่ม และอุตสาหกรรมจังหวัดเพิ่มจากเดิมอีก 3 แห่ง รวมเป็น 12 แห่ง” ดร.ประกาศิต กล่าว
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท. ถือเป็นองค์กรตัวแทนภาคเอกชนและภาคการผลิต แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม 45 กลุ่ม และสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 75 แห่ง ครอบคลุมภาคการผลิต อุตสาหกรรม และภาคแรงงานวัยทำงานทั่วประเทศ ถือเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้กระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเกิดการชะลอตัว ทำให้แรงงานเกิดความเครียดส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ส.อ.ท. ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาวะของคนในองค์กร จึงใช้นวัตกรรมแนวคิด Happy Workplace ของ สสส. สร้างต้นแบบองค์กรสุขภาวะ กระตุ้นแรงงานไทยให้ทำงานอย่างมีความสุข
กล่าว