สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : สุมยา ดูแลปอด

การสุมยา เป็นหัตถการหนึ่งในทางการแพทย์แผนไทยที่ใช้ในการดูแลระบบทางเดินหายใจ คือ การใช้ความร้อนชื้นซึ่งได้จากไอน้ำเป็นตัวพาน้ำมันหอมระเหยจากยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการช่วยขยายทางเดินหายใจ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนให้หายใจได้ดีขึ้นและเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับทางเดินหายใจการสุมยาเหมาะกับ คนที่มีภาวะเสมหะมากในทางเดินหายใจหรือภาวะที่ทางเดินหายใจแห้ง ลดอาการไอ จาม หายใจติดขัด อาการมึนงง ภูมิแพ้ และปวดศีรษะไมเกรน

หลักการเลือกสมุนไพร ตำรับยาสุม แก้หวัด ควรเลือกสมุนไพรฤทธิ์ร้อน มีน้ำมันหอมระเหย มีกลิ่นหอม ช่วยให้ระบบทางเดินหายใจทำงานได้สะดวกขึ้น เช่น หอมแดง มะกรูด ตะไคร้ ใบกะเพรา ข่า ขิง กระชาย ฯลฯ โดยสมุนไพรเหล่านี้ล้วนมีน้ำมันหอมระเหย ที่ช่วยให้หายใจสะดวก ทางเดินหายใจโล่ง ขยายหลอดลม ฤทธิ์ต้านการอักเสบเป็นหลัก

วิธีการสุมยา
1. เตรียมอุปกรณ์ที่ต้องใช้ ได้แก่ ผ้าเช็ดตัว อ่างหรือชามปากกว้าง ที่ทนความร้อนได้
2. สมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย เช่น ตะไคร้ ใบมะกรูด หอมแดง กะเพรา
3. นำน้ำร้อนใส่ในภาชนะ จากนั้นนำสมุนไพรหั่นใส่ลงไปแช่ทิ้งไว้สักครู่
4. เมื่อกลิ่นสมุนไพรเริ่มออก นำผ้าคลุมศีรษะไว้ ก้มลงสูดรมไอน้ำที่ลอยขึ้นมาให้พอได้กลิ่นสมุนไพร ทำนานประมาณ 15-30 นาที วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น หรือตามสะดวก (ระมัดระวังน้ำร้อนเกินไปอาจทำให้ผิวระคายเคือง ควรทดสอบความร้อนก่อนทการสุมยา)

การศึกษาผลของการสุมยาต่อระบบทางเดินหายใจ

การศึกษาการใช้หอมแดงรักษาหวัดในกลุ่มเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 3 ปี จำนวน 20 คน โดยนำหอมแดงแห้ง 3 – 4 หัว มาปอกเปลือกตัดรากทำความสะอาด ทุบหรือตำให้หยาบแล้วใช้ผ้าบางๆ ห่อเป็นกระจุก นำมาประคบหรือสุมไว้ตรงกระหม่อมเด็ก หรือวางไว้ห่างๆ เวลาเด็กนอน เพื่อสูดดมไอระเหยเข้าไปทางลมหายใจ เปรียบเทียบผลกับเด็กที่ใช้ยา chlorpheniramine syrup พบว่า หอมแดง สามารถรักษาหวัดในเด็กได้ดี ผู้ปกครองของเด็กมีความพึงพอใจ ร้อยละ 95.2 และไม่ปฏิเสธการรักษา ทำให้ลดต้นทุนการสั่งซื้อยารักษาโรคหวัดได้ คิดเป็นร้อยละ 70 มีความสะดวกและประหยัดเวลา โดยระยะเวลาการหายป่วยเมื่อเปรียบเทียบการใช้ยา chlorpheniramine คิดเป็นร้อยละ 75 และไม่มีผลข้างเคียง นับว่าเป็นการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ลดต้นทุนการสั่งซื้อยา และผลข้างเคียงของการใช้ยา