DITP แนะธุรกิจโลจิสติกส์เจาะลูกค้า B2C

มูลค่า B2C ในธุรกิจ e-Commerce มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การขนส่งสินค้าขนาดเล็กมีปริมาณเพิ่มขึ้น LSP ไทยควรขยายฐานธุรกิจเจาะตลาด B2C ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า เน้นสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง และคุ้มค่า

นางสาวบรรจงจิตต์ อังสุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ  กล่าวว่า การขนส่งสินค้าขนาดเล็ก หรือพัสดุภัณฑ์มีแนวโน้มสูงขึ้นตามทิศทางการเติบโตของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce)   โดยกลุ่มลูกค้าที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือกลุ่ม B2C เนื่องจากผู้ค้าจำนวนมากเป็นผู้ค้ารายย่อยที่ต้องการผู้บริหารจัดการสต็อกสินค้า การบรรจุหีบห่อและการจัดส่งหรือกระจายสินค้าในลักษณะของ e-Fulfillment ซึ่งประกอบด้วยการบริการพื้นที่จัดเก็บ (Storage Service) บริการค้นหาสินค้า และบรรจุหีบห่อ (Pick & Pack Service) รวมถึงบริการจัดส่ง (Delivery Service)

ระบบสารสนเทศ หรือ e-Logistics จึงมีความสำคัญต่อการบริหารจัดการในคลังสินค้าและการขนส่งสินค้า และสร้างความเชื่อมั่น (ความเชื่อถือ) กับทั้งผู้ขายสินค้าและผู้ซื้อ ที่ต้องการตรวจสถานะการขนส่งสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง หากทั้งผู้ขายสินค้าผู้ให้บริการโลจิสติกส์สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า (ต้นทุน ยอดขาย ขนาดกล่องบรรจุ) รวมถึงต้นทุนการให้บริการ เพื่อร่วมกันคำนวณต้นทุนของทั้ง 2 ฝ่าย จะเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์และ สามารถพยากรณ์ต้นทุนและกำไรจากการขายได้อย่างแม่นยำ

ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยควรรวมกลุ่มให้ครบทุกกลุ่ม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน สามารถสร้างความแข็งแกร่งร่วมกันในการขยายการให้บริการ หรือลงทุน IT ด้านโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการดำเนินงาน หรืออาจร่วมธุรกิจกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายใหญ่ข้ามชาติ ในรูปแบบJoint Venture ซึ่งแม้ว่าบริษัทเหล่านี้จะมีข้อได้เปรียบในด้านเทคโนโลยีและการบริหารจัดการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อคำนวณต้นทุนและกำไรเมื่อจะลงทุนให้บริการในแต่ละประเทศแล้วพบว่าไม่คุ้มค่า จึงใช้วิธีจ้างผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในท้องถิ่นที่มีความชำนาญในแต่ละพื้นที่การจัดส่งสินค้าเป็นผู้ดำเนินงานแทน

ทั้งนี้จากรายงานของ EDTA อธิบายว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2559-2561) มูลค่า e-Commerce ในกลุ่มธุรกิจ B2C ขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 23.17 และคาดว่าในปีนี้จะขยายตัวประมาณร้อยละ 16.79 หรือคิดเป็นมูลค่า 949,121.61 ล้านบาท จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย (LSPs) ที่จะเข้ามาให้บริการในตลาดนี้ นอกจากนี้ การมีคู่ค้า (Partner) ที่ดี จะช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ขายสินค้า ผู้ซื้อสินค้า ผู้ขนส่งสินค้า ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นมาตรฐานและเชื่อถือได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำมาใช้วางแผนบริหารจัดการธุรกิจ อย่างไรก็ตาม LSPs ไทยส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าที่ขนส่งสินค้าในปริมาณมาก หรือในลักษณะตู้คอนเทนเนอร์มากกว่าสินค้าปริมาณไม่เยอะหรือชิ้นเล็ก จึงทำให้ LSPs ต่างชาติเห็นช่องว่างในตลาดนี้ และเข้ามาให้บริการขนส่งสินค้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

 

สำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ