ผลงาน 3 เดือน U2T น่าพอใจคนไทยได้ประโยชน์ อว.เตรียมผลักดันระยะที่ 2 ทำงานในตำบลที่เหลือ 4,435 แห่ง จนถึงสิ้นปี 64

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ” ครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2564ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส

โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีและโฆษกกระทรวง พร้อมด้วยคณะทำงาน รมว.อว. ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงฯ ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากูล รองปลัดกระทรวงฯ รองศาสตราจารย์ ดร.รสสุคนธ์ แสงมณี อธิการบดี และคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมทั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ U2T เข้าร่วมการประชุม

ในการประชุมซึ่งมี รมว.อว.เป็นประธาน ที่ประชุมได้สรุปการติดตามผลการดำเนินงาน U2T ในจังหวัดนราธิวาส และได้มีการรายงานถึงความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา รวมทั้งสรุปข้อมูลการจ้างงานภายใต้โครงการ “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ” โดยจากข้อมูลการจ้างงานภายใต้โครงการ U2T สิ้นสุด ณ เดือนมีนาคม 2564 อว. สามารถจ้างงานได้มากถึง 53,264 คน จากเป้าหมาย 60,000 คน คิดเป็นร้อยละ 89 และจำนวนเกินครึ่งของผู้รับจ้างจะเป็นบัณฑิตจบใหม่ โดยการจ้างงานของเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภาคเหนือตอนบนจะมีจำนวนมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 98 ส่วนเงินค่าจ้าง สป.อว. ได้โอนเงินงบประมาณส่วนนี้ให้กับสถาบันอุดมศึกษาในโครงการทั้ง 76 สถาบันไปแล้ว เพื่อดำเนินการเบิกจ่ายเงินเดือนรายเดือนให้กับผู้รับจ้างต่อไป

ส่วนโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ” ในระยะที่ 2 อว.จะผลักดันให้มีการดำเนินการในพื้นที่จำนวน 4,255 ตำบลที่ยังเหลืออยู่และแขวงในกรุงเทพมหานครอีก 180 แขวง รวมทั้งสิ้น 4,435 แห่ง เพื่อต่อยอดและขยายขอบเขตการดำเนินการ โครงการ U2T ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ จะเป็นการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล ทำให้เกิดการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ นักศึกษาและประชาชนทั่วไป และทุกพื้นที่ในโครงการจะมีการพัฒนาตามปัญหาและความต้องการของชุมชนและเกิดการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (Community Big Data) เพื่อเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมีเป้าหมายชัดเจน กรอบวงเงินงบประมาณที่ อว.วางไว้ จำนวน 10,638,460,000 บาท

โดย อว.จะเร่งเสนอเรื่องนี้ไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งเมื่อจบโครงการระยะที่ 2 และสิ้นสุดการทำงานในเดือนธันวาคม 2564 ทุกตำบลทั่วประเทศไทยจะได้รับการเติมเต็มด้าน องค์ความรู้และนวัตกรรมจากสถาบันอุดมศึกษาในสังกัด อว. เพื่อจะได้สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนด้วยตนเองต่อไป ตามแนวคิด “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ”