พม. จัดกิจกรรม : ปฏิบัติการจาก “เปราะบางสู่เข้มแข็ง” (1 กรม 1 พื้นที่พัฒนา) ดึงภาคีเครือข่ายบูรณาการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง แก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

วันที่ 9 เม.ย. 64 เวลา 09.00 น. นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม : ปฏิบัติการจาก “เปราะบางสู่เข้มแข็ง” (1 กรม 1 พื้นที่พัฒนา) ภายใต้โครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน ร่วมกับ 12 กระทรวง 1 หน่วยงาน โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวง พม. ผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุมชั้น 2 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถนนกรุงเกษม สะพานขาว กรุงเทพฯ

นางพัชรี กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ขับเคลื่อน “โครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน” โดยมุ่งเน้นการดําเนินการแบบบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด อําเภอ ตําบล และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือและพัฒนากลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. ให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เป็นการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งที่ผ่านมา ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย

1) พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือนระหว่าง 12 กระทรวง 1 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 ณ ทําเนียบรัฐบาล

2) โครงการ “ดืองันฮาตี” การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล

3) โครงการ 1 กรม 1 พื้นที่พัฒนา ดําเนินการในพื้นที่ 8 ชุมชนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย

1. ชุมชนภายในซอยจรัญสนิทวงศ์ 9/1 เขตบางกอกใหญ่

2) ชุมชนรัชฎภัณฑ์ (ซอยหมอเหล็ง ) เขตราชเทวี

3. ชุมชนวัดสุวรรณคีรี เขตบางกอกน้อย

4. ชุมชนลำชะล่า (โคกบ่าวสาว) เขตบางเขน

5. ชุมชนวัดจอมสุดาราม เขตดุสิต

6. ชุมชนเฟื้องฟ้าพัฒนา เขตประเวศ

7. ชุมชนภายในซอยศรีนครินทร์ 9 เขตสวนหลวง

8. ชุมชนกลุ่มริมคลองกะจะ เขตบางกะปิ โดยมีการกรองข้อมูลและใช้สมุดพกครอบครัวในการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่เพื่อนำมาวางแผนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางในชุมชนอย่างเหมาะสม

4) โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ 10 จังหวัดนําร่อง ด้วยการนําผลการศึกษาของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มากําหนดนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน

5) โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือนระดับจังหวัด ดําเนินการในพื้นที่ 76 จังหวัด ด้วยการกรอง จัดเก็บ และรวบรวมข้อมูล โดยใช้สมุดพกครอบครัว เพื่อใช้ในการวางแผนและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง

นางพัชรี กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ การดําเนินโครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือนถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของหน่วยงานราชการที่มีการบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำให้กับกลุ่มเปราะบางในประเทศ ซึ่งกิจกรรม : ปฏิบัติการจาก “เปราะบางสู่เข้มแข็ง” ในวันนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ 1 กรม 1 พื้นที่พัฒนา

ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน ระหว่าง 12 กระทรวง 1 หน่วยงาน เป็นการขับเคลื่อนงานช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการจากภาครัฐ นับเป็นการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางอย่างเป็นระบบและยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านกระบวนการจัดการรายกรณี (Case Management) และการจัดทําแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตรายครัวเรือน โดยมีนวัตกรรม คือ สมุดพกครอบครัวเป็นเครื่องมือในการดําเนินงานและขับเคลื่อนงาน

โดยเชื่อมโยงกลไกระดับพื้นที่ทั้งจังหวัด อําเภอ และตำบล รวมถึงเครือข่ายอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกลุ่มเปราะบาง ซึ่งทุกกรมของกระทรวง พม. ได้เริ่มดำเนินการในพื้นที่แล้วตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา และจะดำเนินการจนกว่ากลุ่มเปราะบางจะสามารถดํารงชีวิตและพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

###################################################