“อธิบดีน้ำบาดาล” เปิดตัว “น้ำแร่โซดารสชาติใหม่” จากแหล่งห้วยกระเจา พร้อมเผยผลการดำเนินงานเจาะน้ำบาดาลแก้ไขปัญหาให้ประชาชน

Featured Video Play Icon

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดแถลงข่าวแนะนำ “น้ำแร่โซดารสชาติใหม่” จากห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี ที่มาพร้อมบรรจุภัณฑ์แบบขวดแก้วสีเขียวใส ขนาดบรรจุ 270 มิลลิลิตร เพิ่มความซ่าด้วยการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในน้ำที่ผ่านการกรองอย่างถูกหลักอนามัยแล้ว ทำให้ได้รสชาติเหมือนดื่มน้ำจากปากบ่อน้ำพุโซดาที่ห้วยกระเจาจริงๆ โดยได้เชิญให้สื่อมวลชนร่วมชิม “น้ำแร่โซดารสชาติใหม่” นี้ด้วย

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาล โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 – 2563 รวมทั้งสิ้น 18,220 แห่ง ปริมาณน้ำที่สามารถพัฒนาเพื่อการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น จำนวน 400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จำนวนครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ 2,102,325 ครัวเรือน และโครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 – 2563 รวมทั้งสิ้นจำนวน 11,111 แห่ง ปริมาณน้ำบาดาลที่สามารถพัฒนาเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้น จำนวน 364 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี พื้นที่เกษตรกรรมมีแหล่งน้ำบาดาลเพิ่มขึ้น จำนวน 424,800 ไร่

ด้านนายสิทธิศักดิ์ มั่นอยู่ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและแผน (งานทรัพยากรน้ำบาดาล) กล่าวว่า ภาพรวมประเทศไทย ประกอบด้วย ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล อยู่ในพื้นที่แอ่งเจ้าพระยาตอนล่าง มีชั้นน้ำบาดาลทั้งหมด 8 ชั้น ซึ่งมีความลึกสุดของบ่อน้ำบาดาลที่ใช้น้ำปัจจุบันอยู่ที่ความลึก 600 เมตร พื้นที่ภาคกลางอยู่ในแอ่งเจ้าพระยาตอนบนมีชั้นน้ำบาดาล 3 ชั้น ความลึกโดยเฉลี่ย 300 เมตร พื้นที่ภาคเหนือ มีแอ่งน้ำบาดาลใหญ่ๆ เช่น แอ่งเชียงใหม่-ลำพูน มีความลึกของน้ำบาดาลอยู่ที่ 170 เมตร โดยน้ำบาดาลอยู่ในชั้นตะกอน และชั้นหินแข็ง พื้นที่ภาคใต้มีแอ่งน้ำบาดาลใหญ่ๆ คือ แอ่งหาดใหญ่มีความลึกโดยเฉลี่ย 170 เมตร และพื้นที่ภาคอีสาน จะไม่มีแอ่งตะกอนกรวดทราย ที่สำคัญน้ำบาดาลส่วนใหญ่พบในรอยแตกและรอยต่อของชั้นหิน โดยความลึกเฉลี่ยของชั้นน้ำบาดาลประมาณ 100 เมตร การพัฒนาน้ำบาดาลในภาคอีสานต้องระวังเรื่องน้ำเค็ม เพราะมีชั้นหินเกลือวางตัวอยู่ใต้ชั้นน้ำบาดาลในหลายพื้นที่”

ดร.สุรินทร์ วรกิจธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาน้ำบาดาล กล่าวเพิ่มเติมว่า ขั้นตอนการสำรวจและพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ประโยชน์ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะดำเนินการอย่างรอบคอบและรัดกุมถึง 10 ขั้นตอน ดังนี้ 1) วิเคราะห์ข้อมูล 2) สำรวจภาคสนาม 3) คัดเลือกสถานที่ 4) เจาะบ่อน้ำบาดาล 5) ออกแบบและก่อสร้างบ่อน้ำบาดาล 6) พัฒนาบ่อน้ำบาดาล 7) สูบทดสอบปริมาณน้ำบาดาล 8) วิเคราะห์คุณภาพน้ำ 9) ออกแบบระบบกระจายน้ำ และ 10) การถ่ายทอดเทคโนโลยี

นอกจากนี้ ภารกิจในการเจาะบ่อน้ำบาดาลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะมีรถเจาะที่มีความสามารถเจาะได้ถึง 400 เมตร หลุมเจาะบ่อน้ำบาดาลส่วนใหญ่ดำเนินการในพื้นที่หาน้ำยาก มีการปิดผนึกข้างบ่อเป็นอย่างดี บ่อน้ำบาดาลจะมีชุดปิดปากบ่อน้ำบาดาลแบบป้องกันน้ำท่วม มีฐานคอนกรีตเพื่อป้องกันสารปนเปื้อนเข้าสู่ชั้นน้ำบาดาล มีอายุการใช้งาน 15-20 ปี มีการวิเคราะห์คุณภาพน้ำบาดาลเพื่อให้ทราบคุณลักษณะต่างๆ ก่อนนำไปใช้อุปโภคบริโภคเพื่อความปลอดภัยของประชาชน

…………………….