คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป ปนช.) เห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ….

เมื่อวันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม 2561 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายสมณ์ พรหมรส อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พร้อมด้วย นางนงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน  นางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่กองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เข้าชี้แจงร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ต่อคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป ปนช.) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยที่ประชุมวิป ปนช. ได้มีการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติฯ ผลกระทบจากการปรับแก้ ร่างพระราชบัญญัติฯ การดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ฯลฯ และได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฯ พร้อมทั้งให้นำเข้าสู่การพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ที่จะถึงนี้

ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายพ.ศ. ….  เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องกัน ปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมถึงเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีฐานความผิดดังกล่าวเป็นการเฉพาะ ทำให้ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (ICPPED) ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีและลงนามไว้ นอกจากนี้ ร่างพระราชบัญญัติฯ ยังเป็นส่วนช่วยยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลโดยร่างพระราชบัญญัติฯ ประกอบด้วย 5 หมวด 33 มาตรา โดยหมวดที่ 1 บททั่วไป กำหนดเกี่ยวกับฐานความผิดการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หมวดที่ 2 จัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หมวดที่ 3 กำหนดเกี่ยวกับมาตรการการป้องกันการทรมานและการกระทำให้ บุคคลสูญหาย หมวด 4 กำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดี โดยกำหนดให้ความผิดตามพ.ร.บ.ฯ เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ และหมวดที่ 5 บทกำหนดโทษ ทั้งนี้ หากร่างพระราชบัญญัติฯ มีผลบังคับใช้  กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจะมีหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการฯ ซึ่งจะทำหน้าที่ประสานงาน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาวิจัย รวมทั้งส่งเสริมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย แก่ทุกภาคส่วนต่อไป

——————————————

กลุ่มงานช่วยอำนวยการและสื่อสารองค์กร

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม