‘พาณิชย์’ ขนกูรูขึ้นเหนือ ชี้ช่องใช้ FTA ขยายตลาดส่งออกกาแฟ กล้วยหอม

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมจัดทัพผู้เชี่ยวชาญภาครัฐและภาคเอกชน ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาเพิ่มศักยภาพกาแฟ กล้วยหอมไทย หนุนใช้ประโยชน์จาก FTA เสริมสร้างขีดความสามารถรองรับการแข่งขันในยุคการค้าเสรี

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน นี้ กรมฯ กำหนดลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยนำวิทยากรทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชน อาทิ กรมทรัพย์สินทางปัญญา
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมกาแฟไทย เพื่อพบผู้ประกอบการกาแฟ Acaba Coffee อำเภอแม่ออน ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยมีกระบวนการผลิตแบบผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกับมาตรฐานสากล ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ การนำเมล็ดกาแฟมาผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น ตาก หมัก คั่ว จนได้เป็นกาแฟพร้อมส่งถึงมือผู้บริโภค ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้แลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ เพื่อพัฒนาเพิ่มศักยภาพกาแฟไทยรองรับการแข่งขันในยุคการค้าเสรี

ทั้งนี้ ในปี 2563 ไทยส่งออกสินค้ากาแฟสำเร็จรูป มูลค่าสูงถึง 99.62 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่

(1) สปป.ลาว มูลค่า 24.33 ล้านเหรียญสหรัฐ

(2) กัมพูชา มูลค่า 22.08 ล้านเหรียญสหรัฐ

(3) เมียนมา มูลค่า 21.12 ล้านเหรียญสหรัฐ

(4) ฟิลิปปินส์ มูลค่า 10.23 ล้านเหรียญสหรัฐ

(5) สหราชอาณาจักร มูลค่า 8.58 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยจะเห็นได้ว่า สินค้าเมล็ดกาแฟดิบ เมล็ดกาแฟคั่ว มีการส่งออกเพียง 3.02 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นปริมาณไม่มากนักเนื่องจากมีความต้องการบริโภคในประเทศสูง

นางอรมน เพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กรมฯ ยังเตรียมพบหารือกับวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กล้วยหอมเมืองแกน อำเภอแม่แตง ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จและเหมาะกับการเป็นแม่แบบที่ดีในการขับเคลื่อนนโยบายตลาดนำการผลิต ซึ่งเป็นเรื่องที่รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้ความสำคัญ และได้มอบให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมขับเคลื่อนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สินค้ากล้วยหอม จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยในปี 2563 มีมูลค่าส่งออก 3.45 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน กัมพูชา และเกาหลีใต้ เป็นต้น กรมฯ จึงจะใช้โอกาสนี้ให้ข้อมูลกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) สร้างแต้มต่อทางการค้าและขยายการส่งออกให้กับสินค้าเกษตรของไทย

“การลงพื้นที่เชียงใหม่ครั้งนี้ กรมฯ เน้นเสริมสร้างความรู้เตรียมความพร้อมให้ภาคเกษตรไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ที่ประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ของไทยได้ลดหรือยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่ส่งออกจากไทยแล้ว ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการและหันมาให้ความสำคัญกับสินค้าอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ซึ่งสินค้าอาหารของไทยสามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้ โดยจะเห็นได้จากสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยในปี 2563 ที่แม้จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 แต่ไทยสามารถขยายการส่งออกสินค้าเกษตรไปยัง 18 ประเทศที่ไทยมี FTA ด้วย มีมูลค่า 14,876 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 2.28%” นางอรมน เสริม