กรมอนามัย เผยเด็กไทยติดจอไม่ขยับ 6 ชม.ต่อวัน เร่งดันชมรม ChOPA & ChiPA Game เพิ่มกิจกรรมทางกายให้เด็ก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยร้อยละ 41 ของเด็กไทยใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่การทำกิจกรรมทางกายเพียงพอต่ำมาก เพียงร้อยละ 23.2 จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาศักยภาพและเตรียมการขับเคลื่อนชมรม CHOPA & CHIPA GAME ประเทศไทย” เป็นศูนย์กลางการประสานความร่วมมือ และดำเนินการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเด็กไทย วิจัย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรการกุศลทั้งในและต่างประเทศ พร้อมขยายความร่วมมือจัดตั้งชมรมฯ ระดับภาค ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และโรงเรียนต่อไป

วันที่ 3 ธันวาคม 2561 นายแพทย์บัญชา  ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาศักยภาพและเตรียมการขับเคลื่อนชมรม CHOPA & CHIPA GAME ประเทศไทย” ณ โรงแรมดิ ไอเดิล    เรสซิเดนซ์ จังหวัดปทุมธานี ว่า อัตราโรคอ้วนในเด็ก ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในการจัดการปัญหานี้รวมกันกว่า 166 หมื่นล้านสหรัฐต่อปี สำหรับประเทศไทย จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) พบว่า เด็กไทยอายุ 12-14 ปี 1 ใน 5 เป็นโรคอ้วน แต่ในเขตกรุงเทพมหานคร พบ 1 ใน 4 คน และจากการสำรวจการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ระหว่างปี 2557-2558   โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าเด็กไทยใช้เวลามากถึง 13 ชั่วโมง 35 นาทีต่อวันกับการมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (ไม่รวมการนอนหลับ)  และประมาณร้อยละ 41 ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอทีวีเฉลี่ย 6 ชั่วโมงต่อวัน  ในขณะที่การทำกิจกรรมทางกายเพียงพอต่ำมากเพียงร้อยละ 23.2  (รายงานระดับการมีกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชนไทย ปี พ.ศ. 2559” (2016 TRC) โดยศูนย์วิจัยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ”) ซึ่งหากไม่ได้รับการป้องกันและบำบัดอย่างถูกวิธี แนวโน้มเด็กอ้วนจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมากระบวนการแก้ปัญหาเป็นไปด้วยความยากลำบากและมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น โปรแกรมออกกำลังกายไม่จูงใจให้เด็กอ้วนเข้าร่วม ถูกแยกออกกำลังกายจากเพื่อนๆ จึงทำให้ขาดแรงจูงใจ สถานที่ออกกำลังกายไม่เพียงพอ หลักสูตรพลศึกษา เหลือเพียง 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และมุ่งสู่การแข่งขันกีฬามากกว่าเพื่อสุขภาพ ขาดแคลนครูพลศึกษา บุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งในโรงเรียนและสถานบริการสาธารณสุข      ขาดความรู้ ความเข้าใจ และทักษะ จึงนำไปสู่การพัฒนา “ชุดนวัตกรรมกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กอ้วนและเด็กทั่วไป” (Childhood Obesity Physical Activities & Child Physical Activities : ChOPA & ChiPA Game Innovations) เพื่อเป็นเครื่องมือพัฒนาแรงจูงใจให้เด็กอ้วนเข้าร่วมและทำกิจกรรมทางกายเพียงพออย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์บัญชา กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาโครงการ ChOPA & ChiPA Game ลดเรียนเพิ่มรู้ สู่เด็กไทยสูง สมส่วน แข็งแรง IQ EQ ดี ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อน สนับสนุน และเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงพฤติกรรมการทำกิจกรรมทางกายที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีอย่างมีความสุขและสนุกสนาน จนสามารถลดเด็กอ้วนจากร้อยละ 17.8 เป็น 12.7 ในโรงเรียน 28 แห่ง เพิ่มเด็กสมส่วนจากร้อยละ 71.3 เป็น 80.5 ภายในเวลา 2 ปี ทำให้เด็กอ้วนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงโรค  ไม่ติดต่อเรื้อรัง ลดการเป็นภาระของสังคม กลายเป็นสมาชิกของสังคมที่มีคุณค่า สามารถเป็นผู้นำการออกกำลังกาย เป็นผู้นำการดูแลสุขภาพตนเอง ดูแลเพื่อนและครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งยังช่วยลดปัญหาเด็กติดไลน์ ติดเกม ติดโทรทัศน์     ติดโทรศัพท์ จดจ่ออยู่กับพฤติกรรมเนือยนิ่ง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

“ทั้งนี้ ในปี 2562 กรมอนามัยได้ขยายความร่วมมือจากภาครัฐสู่ภาคเอกชนและประชาชน และจัดให้มีการประชุม  เชิงปฏิบัติการ “พัฒนาศักยภาพและเตรียมการขับเคลื่อนชมรม ChOPA & ChiPA Game ประเทศไทย” เพื่อร่วมจัดตั้ง “ชมรม ChOPA & ChiPA Game ประเทศไทย” จำนวน 1 ชมรม ให้เป็นศูนย์กลางการประสานความร่วมมือดำเนินการรณรงค์และส่งเสริมให้เด็กไทยเพิ่มกิจกรรมทางกายและลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง รวมทั้งจัดกิจกรรมออกกำลังกาย กีฬา และนันทนาการ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรการกุศลทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนทำการศึกษาวิจัย เผยแพร่แลกเปลี่ยนความรู้ ข่าวสารเกี่ยวกับ การส่งเสริมกิจกรรมทางกายของชมรมฯ เป็นแหล่งบริการทางวิชาการ สร้างและพัฒนาแกนนำ ผู้นำส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สร้างความสามัคคีและความเข้าใจอันดีระหว่างภาคีเครือข่ายส่งเสริมกิจกรรมทางกายประเทศไทย รวมไปถึงสนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกและภาคีเครือข่ายในการประกอบกิจกรรมเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และร่วมกันทำกิจกรรม เพื่อสาธารณประโยชน์ เพื่อสันติภาพของมวลมนุษยชาติ และพร้อมขยายความร่วมมือจัดตั้งชมรมฯ ระดับภาค ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และโรงเรียน ให้เด็ก ผู้ปกครอง และผู้เกี่ยวข้องเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากกิจกรรมของชมรมฯ โดยง่าย  สู่การจัดการปัญหาเด็กอ้วนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ