นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการและคนชราเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายที่มุ่งให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและเสริมสร้างให้คนพิการ ผู้สูงอายุ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำให้สามารถเข้าถึงบริการของรัฐอย่างเสมอภาค ดังนั้น เพื่อเป็นการสนองตามนโยบายของรัฐบาล จึงสั่งการให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ในฐานะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการออกข้อกำหนดและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร รวมถึงการกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการเข้าใช้อาคาร ดำเนินการทบทวนปรับปรุง แก้ไขกฎหมายให้ทันต่อสภาพการณ์ปัจจุบันเพื่อให้คนพิการ และผู้สูงอายุ สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ ในอาคารได้ และมีส่วนร่วมกิจกรรมในสังคมได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการอย่างเร่งด่วน ซึ่งเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนที่ 16 ก กฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔ มีผลใช้บังคับนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการ หรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ. 2548 เพื่อให้ครอบคลุมถึงอาคารบางประเภทที่มีขนาดและลักษณะที่สมควรต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ และผู้สูงอายุ เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการ และผู้สูงอายุ ในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์อาคารได้มากยิ่งขึ้น โดยแก้ไขเพิ่มเติมประเภท ขนาด ลักษณะของอาคาร และสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดตั้ง ขนาด จำนวน และมาตรฐานของสิ่งอำนวยความสะดวก ในอาคารสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุให้เหมาะสม สอดคล้องและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ในสาระสำคัญของกฎกระทรวง เช่น
- กำหนดประเภทอาคารและลักษณะดังต่อไปนี้ ต้องจัดให้สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา
1.1 อาคารที่ให้บริการสาธารณะ ได้แก่ โรงมหรสพ หอประชุม โรงแรม สถานศึกษา หอสมุด อาคารประกอบ ของสนามกีฬากลางแจ้งหรือสนามกีฬาในร่ม ตลาด ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานบริการ ฌาปนสถาน ศาสนสถาน พิพิธภัณฑสถาน และสถานีขนส่งมวลชน
1.2 สถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน
1.3 อาคารที่ประกอบกิจการให้บริการหรือรับดูแลเด็ก ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือคนชรา
1.4 อาคารที่ทำการของราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้น ตามกฎหมาย
1.5 สำนักงาน อาคารอยู่อาศัยรวม อาคารชุด หรือหอพัก ที่เป็นอาคารขนาดใหญ่
1.6 อาคารพาณิชยกรรมหรืออาคารพาณิชยกรรมประเภทค้าปลีกค้าส่งที่มีพื้นที่สำหรับประกอบกิจการตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป
1.7 สถานีบริการน้ำมัน สถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง
- กำหนดให้มีที่จอดรถยนต์สำหรับคนพิการและคนชรา ดังนี้
– อาคารที่มีที่จอดรยนต์ไม่เกิน 25 คัน ต้องมีที่จอดรถยนต์คนพิการและคนชรา ไม่น้อยกว่า 1 คัน
– อาคารที่มีที่จอดรยนต์ตั้งแต่ 26-50 คัน ต้องมีที่จอดรถยนต์คนพิการและคนชรา ไม่น้อยกว่า 2 คัน
– อาคารที่มีที่จอดรถยนต์ตั้งแต่ 51-75 คัน ต้องมีที่จอดรถยนต์คนพิการและคนชรา ไม่น้อยกว่า 3 คัน
– อาคารที่มีที่จอดรยนต์ตั้งแต่ 76-100 คัน ต้องมีที่จอดรถยนต์คนพิการและคนชรา ไม่น้อยกว่า 4 คัน
– อาคารที่มีที่จอดรยนต์ตั้งแต่ 101-150 คัน ต้องมีที่จอดรถยนต์คนพิการและคนชรา ไม่น้อยกว่า 5 คัน
– อาคารที่มีที่จอดรถยนต์ตั้งแต่ 151-200 คัน ต้องมีที่จอดรถยนต์คนพิการและคนชรา ไม่น้อยกว่า 6 คัน
ทั้งนี้ ที่จอดรถยนต์สำหรับคนพิการและคนชราต้องจัดให้ใกล้ทางเข้าออกอาคารมากที่สุด มีพื้นผิวเรียบ มีระดับเสมอกัน และมีสัญลักษณ์รูปคนพิการนั่งวีลแชร์อยู่บนพื้นของที่จอดรถ
- กำหนดให้มีทางลาดโดยมี
3.1 ความกว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร กรณีทางลาดแบบสวนกันได้ ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร
3.2 มีความลาดชันไม่เกิน 1:12 และมีความยาวแต่ละช่วงไม่เกิน 6 เมตร หากทางลาดยาวเกิน 6 เมตร ต้องให้มีชานพักขนาดไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร คั่นระหว่างแต่ละช่วง
3.3 ทางลาดที่ไม่มีผนังกั้นให้ยกขอบสูงไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร และทางลาดที่มีความยาวตั้งแต่ 1.8 เมตรขึ้นไป ต้องมีราวจับทั้งสองด้าน สำหรับทางลาดที่มีความกว้างตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป ต้องมีราวจับห่างกันไม่เกิน 1.6 เมตร โดยทำจากวัสดุผิวเรียบ ลักษณะกลมหรือลักษณะมนไม่มีเหลี่ยม มีความมั่นคงแข็งแรงและไม่เป็นอันตรายต่อการจับ และไม่ลื่น มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 3 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 4 เซนติเมตร
———————————-