สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : มะเขือเทศ สมุนไพรกันแดด ป้องกันผิวไหม้

มะเขือเทศอุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ และโอสถสารต่างๆ ที่สำคัญคือ สารสีแดงที่ชื่อว่า ไลโคปีน(lycopene) ซึ่งพบในบริเวณผิวหนังของคนเราด้วย ไลโคปีนมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยเฉพาะในการบำรุงและปกป้องผิว ช่วยให้ผิวทนต่อแสงแดดดีขึ้น และป้องกันผิวไหม้แดด มีการศึกษาวิจัยพบว่า การบริโภคมะเขือเทศมีผลลดผื่นแดงจากผิวไหม้แดด(erythema) ซึ่งจะเห็นผลเมื่อรับประทานมะเขือเทศติดต่อกัน 10-12 สัปดาห์ หรือประมาณ 3 เดือน เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศ สารแคโรทีนอยด์(carotenoid)และสารไลโคปีนที่ผิวหนังจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น ในขณะที่สารอักเสบที่เรียกว่า  matrix metalloproteinase(MMP) ที่ผิวหนังลดลง และอาการผื่นแดงที่เกิดหลังจากโดนแสงแดดลดลง 30-50%  เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับมะเขือเทศ นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มที่ได้รับมะเขือเทศ แสงแดดจะทำลายโมเลกุลของดีเอ็นเอของผิวหนังน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับ และมีการสร้างโปรคอลลาเจน(procollagen) ใต้ผิวหนังมากกว่า

สถาบันวิจัยที่ญี่ปุ่นได้ทำการวิจัยพบว่า สารไลโคปีนมีประสิทธิภาพในการกำจัดอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นบนผิวหนังจากรังสีอุลตร้าไวโอเล็ต และช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินที่ผิวหนัง อันเป็นสาเหตุให้เกิดฝ้า กระ จุดด่างดำ โดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส(tyrosinase) ยังมีรายงานว่าสารไลโคปีนช่วยลดความเสียหายของเนื้อเยื่อจากการฉายรังสี ซึ่งเป็นการสนับสนุนว่ามะเขือเทศเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพผิวอย่างยิ่งในสภาวะโลกร้อน

นอกจากนี้การดื่มน้ำมะเขือเทศเป็นประจำจะทำให้ผิวขาวใสขึ้น เนื่องจากมีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด โดยเฉพาะวิตามินเอและวิตามินซีที่มีปริมาณสูงในมะเขือเทศ วิตามินทั้งสองชนิดนี้มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างและบำรุงผิวให้แข็งแรง น้ำคั้นจากผลมะเขือเทศสุกสามารถนำใช้ทาหน้าเป็นเครื่องสำอางบำรุงผิว และมีฤทธิ์สมานแผล มะเขือเทศยังมีกรดอ่อนๆ ที่ช่วยทำให้ผิวหน้าสะอาดดูเต่งตึงเปล่งปลั่งยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การรับประทานมะเขือเทศเป็นเพียงวิธีหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงที่ผิวหนังจะถูกทำลายจากความร้อนของแสงแดดและรังสีที่เป็นอันตราย ในการป้องกันแสงแดดอย่างมีประสิทธิภาพ การทาครีมกันแดดยังคงมีความจำเป็น โดยทำควบคู่กับการปฏิบัติตัวคือ หลีกเลี่ยงแสงแดด โดยเฉพาะช่วง 10.00 น.-16.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่มีแดดจัด หากจำเป็นต้องออกแดดควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันผิวจากแสงแดดด้วย เพราะแสงแดดเป็นตัวการสำคัญของปัญหารอยเหี่ยวย่นที่เกิดก่อนก่อนวัย ผิวหมองคล้ำ ฝ้า กระ จุดด่างดำ และอาจทำให้เกิดโรคผิวหนังที่ร้ายแรงได้

วิตามินเอ วิตามินซี สารลูทีน(lutein)และซีแซนทิน(zeaxanthin) ที่พบในมะเขือเทศ ดอกดาวเรือง หรือพืชที่มีสีเหลืองอื่นๆ มีส่วนช่วยในการบำรุงสายตา ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันอาการตาบอดกลางคืน ลดการเกิดจอประสาทตาเสื่อม(age-related macular degeneration: AMD) ทำให้การมองเห็นดีขึ้นนอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า สารลูทีนและซีแซนทินช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อกระจก และอาจมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยจอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวานมีการมองเห็นดีขึ้น เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีระดับของสารลูทีนและซีแซนทินในเลือดต่ำกว่าในคนปกติ

สารลูทีนและซีแซนทิน ซึ่งเรียกรวมกันว่า สารแซโทฟิลล์(xanthophyll) เป็นสารแคโรทีนอยด์  กลุ่มหนึ่ง ที่มีอยู่มากบริเวณจุดโฟกัสของจอประสาทตา ทำหน้าที่เป็นสารต้านการออกซิเดชัน เพื่อป้องกันเซลล์รับแสงไม่ให้ได้รับความเสียหายจากอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในร่างกาย หรือจากแสงที่ผ่านเข้ามาในดวงตา สารลูทีนและซีแซนทีนยังช่วยกรองคลื่นแสงสีฟ้าก่อนที่แสงจะตกสู่จอประสาทตา เนื่องจากคลื่นแสงสีฟ้ามีพลังงานสูงและสามารถสร้างอนุมูลอิสระจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้จอประสาทตาเสื่อมหรือเสียหายได้

มะเขือเทศอุดมไปด้วยไลโคปีน จึงมีประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก เนื่องจากพบการสะสมของไลโคปีนมากที่บริเวณอัณฑะ ปริมาณสารนี้ในอัณฑะยิ่งสูง อัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากก็ยิ่งลดลง  นอกจากนี้มะเขือเทศยังมีฤทธิ์ป้องกันมะเร็งอื่นๆ อีกหลายชนิด

ปัจจุบันมีรายงานการศึกษาวิจัยประโยชน์ของไลโคปีนต่อสุขภาพมากมาย อาทิ การป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดแข็งในหญิงวัยหมดประจำเดือนได้ ช่วยลดความดันโลหิตสูง ลดระดับไขมันในเลือด ต้านเบาหวาน ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ ช่วยทำให้ภูมิแพ้ดีขึ้น ลดหอบหืดกำเริบจากการออกกำลังกาย ลดปัญหาโรคถุงลมโป่งพอง ลดอาการเหงือกอักเสบและเลือดออก และพบว่า สารโทมาโทไซด์(tomatoside) ที่มีอยู่ในมะเขือเทศแสดงคุณสมบัติของอินเตอร์เฟอรอน(interferon)ที่ช่วยต่อสู้กับเชื้อโรค อาจใช้ป้องกัน และรักษาการติดเชื้อไวรัสในมนุษย์และสัตว์ได้

ที่มา บันทึกของแผ่นดิน 9 สมุนไพรในสภาวะโลกร้อน