สวทช. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การใช้งานบอร์ด KidBright ขั้นพื้นฐาน รุ่นที่ 3”

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การใช้งานบอร์ด KidBright ขั้นพื้นฐาน รุ่นที่ 3” ระหว่าง วันที่ 24 – 27 มีนาคม 2564 เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเป็นนักประดิษฐ์ มีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นซึ่งกันและกัน สร้างพื้นฐานความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ให้กับนักเรียน เพื่อมุ่งสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

นางสาววันทนีย์ พันธชาติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ กล่าวว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การใช้งานบอร์ด KidBright ขั้นพื้นฐาน รุ่นที่ 3” ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการด้วยบอร์ด KidBright ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวง ศึกษาธิการ ในการจัดอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ในการใช้งานบอร์ด KidBright

ซึ่งเป็นบอร์ดสมองกลฝังตัว ผลงานวิจัยของเนคเทค สวทช. ให้แก่ครูและนักเรียนพิการจากโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย และการเคลื่อนไหวในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษทั่วประเทศ จำนวน 26 โรงเรียน โดยจัดการอบรมการใช้งานบอร์ด KidBright 3 หลักสูตรได้แก่ การใช้งานบอร์ด KidBright ขั้นพื้นฐาน การใช้งานบอร์ด KidBright ขั้นกลาง และการจัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลด้วยบอร์ด KidBright ทั้งนี้ได้มีการแบ่งกลุ่มโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการออกเป็น 3 รุ่น เพื่อให้สามารถจัดอบรมให้กลุ่มครูและนักเรียนในจำนวนที่เหมาะสมอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาได้จัดอบรมการใช้งานบอร์ด KidBright ขั้นพื้นฐานมาแล้ว จำนวน 2 รุ่น

ซึ่งที่ผ่านมานักเรียนพิการโดยเฉพาะนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินจะมีความยากลำบากในการเข้าใจการเขียนโค้ดที่ต้องใช้ภาษาที่ยุ่งยาก เนื่องจากนักเรียนมีปัญหาในการอ่านและเขียนภาษาไทย และเป็นกลุ่มที่ใช้ภาษามือเป็นหลัก ดังนั้นการส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งด้วยบอรด์สมองกล KidBright ซึ่งมีการออกแบบโปรแกรมที่เป็นคำสั่งแบบบล็อกคำสั่ง ที่ดึงบล็อกคำสั่งมาต่อๆ กันและสามารถแสดงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นบนบอร์สมองกล KidBright ได้ทันทีทำให้นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินสามารถเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น เกิดความเข้าใจจากภาพที่เห็นและสามารถต่อยอดที่จะไปเขียนโค้ดด้วยคำสั่งอื่นต่อไปได้ และยังสามารถจัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลเพื่อแก้ไขปัญหาโจทย์ทางวิทยาศาสตร์ได้ ผลจากการดำเนินงานปรากฏว่านักเรียนที่เข้าร่วมอบรมสามารถเขียนโค้ดคำสั่ง อีกทั้งสามารถจัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวจากบอร์ด KidBright เพื่อแก้ปัญหาโจทย์ทางวิทยาศาสตร์ได้

นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การอบรมการใช้งานบอร์ด KidBright ขั้นพื้นฐาน รุ่นที่ 3 นี้ ให้แก่ครูและนักเรียนพิการจากโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหวในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษทั่วประเทศ จำนวน 26 โรงเรียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียนให้มีการคิดเชิงระบบ การคิดเชิงวิเคราะห์และการคิดเชิงสร้างสรรค์ ขยายโอกาสให้ครูและนักเรียนมีบอร์ด KidBright ใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนทางด้านวิทยาการคำนวณ ส่งเสริมให้เกิดการศึกษาค้นคว้า ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และการใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

ทั้งนี้นักเรียนยังได้นำผลงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวเข้าร่วมประกวดและได้รับรางวัลในประกวดจากหลายเวที จึงทำให้เกิดการขยายผลการดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการด้วยบอร์ด KidBright ในครั้งนี้ ซึ่งโปรแกรมที่ใช้ในการเขียนโค้ดคำสั่งเพื่อสั่งงานบอร์ด KidBright ได้ออกแบบให้เป็นการเขียนด้วยบล็อกคำสั่งที่เป็นรูปภาพ ไม่ต้องใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อน ซึ่งง่ายต่อการเรียนรู้ในการเริ่มต้นการเขียนโค้ดคำสั่งด้วยคอมพิวเตอร์ของนักเรียนพิการ โดยเฉพาะนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินที่หลายคนอ่านและเขียนภาษาไทยได้ไม่ดีนัก นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่นักวิจัยของ สวทช. สามารถพัฒนาผลงานวิจัยและนำมาใช้ในการพัฒนาความรู้ให้กลุ่มนักเรียนพิการที่เป็นกลุ่มเยาวชนอีกกลุ่มหนึ่งของประเทศไทย

การจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งด้วยบอร์ด KidBright สำหรับนักเรียนพิการถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนพิการเป็นอย่างมาก เปิดโอกาสให้นักเรียนพิการได้เรียนรู้เท่าทันเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันอย่างเท่าเทียม ฐานะผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษและเลขานุการคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ ยินดีสนับสนุนการให้มีการจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนพิการร่วมกับ สวทช.และมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ อย่างต่อเนื่องต่อไป นางภัทริยาวรรณ กล่าวทิ้งท้าย