กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจ ต่อร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2561 เวลา 09.00 น. ณ ห้องเบญจศิริ 1 – 2 ชั้น 5 โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ สุขุมวิท 20 กรุงเทพฯ นายสมณ์ พรหมรส อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มอบหมายให้ นายพิทยา จินาวัฒน์ ที่ปรึกษาด้านส่งเสริมสิทธและเสรีภาพร่วมกับ นางสาวโลวิต้า รามกุทธี รองผู้แทน โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมร่วมกับหน่วยงานภาคธุรกิจเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยได้รับเกียรติจาก นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิ และมี นางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และ ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร    ผู้แทนจาก global Compact Network ประเทศไทย ร่วมเป็นวิทยากร

 

นายพิทยา ฯ กล่าวว่า สืบเนื่องจาก กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights : NAP) โดยที่ผ่านมาได้มีการหารือร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดเค้าโครง รูปแบบ ประเด็นหลัก (Key Priority Area) ที่จะกำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการฯ รวมทั้งได้ร่วมกันยกร่างแผนปฏิบัติการฯ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งร่างแผนปฏิบัติการฯ ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกำหนดแนวทาง จัดทำ ติดตาม และประเมินผลตามแผนฯ รวมทั้งได้เวียนให้หน่วยงานต่างๆ ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีที่ภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจ ได้ร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principle on Business and Human Rights : UNGPs) และกระบวนการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน พร้อมได้ร่วมกันให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในประเด็น แรงงาน สิ่งแวดล้อม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง พร้อมที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามกรอบระยะเวลาของแผนปฏิบัติการ ที่ได้กำหนดไว้ (พ. ศ. 2562 – 2566)  ต่อไป

นางสาวโลวิต้า รามกุทธี กล่าวว่า  การประชุมการรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างแผนปฏิบัติการฯ จากภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้แทนจากภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ทั้งนี้หลักการ UNGP นับเป็นหนึ่งในเครื่องมือของการนำ 2030 Agenda ว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติไปปฏิบัติใช้อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อภาคธุรกิจเคารพหลักสิทธิมนุษยชนในการทำงานของตนและในสายอุปทาน เราจะสามารถตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อได้ อนึ่ง เป้าหมายทั้ง 17 ข้อ เป็นเสมือน roadmap สู่อนาคตที่ดีกว่าการสร้างขึ้นโดยประชาชน รัฐบาล ภาคธุรกิจ และองค์กรภาคประชาสังคมทั่วโลก สำหรับภาคธุรกิจแล้ว การปฏิบัติตามหลักการ UNGP จะหมายถึงความเสี่ยงด้านภาพพจน์ชื่อเสียง ด้านปฏิบัติการ และด้านกฎหมายที่จะลดลง อันส่งผลกระทบต่อการสร้างความมั่งคั่ง การจ้างงาน และการเติบโตในการค้าและการลงทุน การยึดถือหลักสิทธิมนุษยชนในการดำเนินงาน และในการบริหารสายอุปทานจะทำให้ภาคธุรกิจสามารถทำให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นการแปลงเจตนารมย์ของ UNGP สู่การปฏิบัติและโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติพร้อมที่จะให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่แก่รัฐบาลไทยตลอดจนภาคธุรกิจที่ดำเนินงานในประเทศไทยในการรับรองและนำแผนปฏิบัติการฯ ไปปฏิบัติใช้อย่างเป็นรูปธรรม

*************************************

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ  กระทรวงยุติธรรม