“บิ๊กอู๋”แถลง ต่อ สนช. ยัน อนุสัญญาฯ 188 ส่งผลดีต่อแรงงานประมงไทยในระยะยาว

รมว.แรงงาน แถลงหลักการสำคัญของอนุสัญญาฯ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง ยืนยันเป็นประโยชน์กับแรงงาน ผลดีต่อภาคประมงในระยะยาว นานาชาติยอมรับสินค้าไทยผลิตอย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาล

วันที่ 29 พ.ย. 61 พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการแถลงข่าวประเด็นการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การ แรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง พ.ศ.2550 (ค.ศ. 2007) โดยมี นายเกรม บักเลย์ (Mr.Graeme Buckley) ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประจำประเทศไทย กัมพูชา และลาว นายหลุยส์ แพรทส์ หัวหน้าหน่วยการต่างประเทศ สหภาพยุโรป นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน  พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงานร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติเห็นชอบให้กระทรวงแรงงานดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การ แรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง พ.ศ.2550 (ค.ศ. 2007) โดยไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียน และในภูมิภาคเอเชีย ที่ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับดังกล่าว เพื่อเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปทั่วโลกได้ว่า ณ วันนี้ ไทยมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับมาตรฐาน การคุ้มครองดูแลแรงงาน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ในภาคประมงของไทย ให้ดียิ่งขึ้นเทียบเท่า มาตรฐานสากล ซึ่งจะทำให้ภาคประมงของไทยได้รับการยอมรับ มีภาพลักษณ์ที่ดี และจะเป็นส่วนหนึ่ง ของมาตรการสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงไทยในขณะนี้ รวมถึงจะส่งผล ต่อภาพรวมด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศในสินค้าอาหารทะเลของไทยที่ปัจจุบันมีมูลค่าส่งออก เฉลี่ยปีละสองแสนล้านบาทด้วย เพราะจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคสินค้าประมงไทยได้ว่า สินค้าของเราจะเป็นสินค้าที่ผลิตอย่างมีจริยธรรมและมีธรรมาภิบาล

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่าก่อนที่จะมาถึงวันนี้กระทรวงแรงงานได้รับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายทั้งนายจ้าง ลูกจ้างภาคประชาสังคมและภาควิชาการรวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แล้วมาหลายรอบ และได้ยกร่าง พรบ.แรงงานประมงขึ้นมาโดยมีเนื้อหาที่สะท้อนข้อเสนอของทุกภาคส่วน และกระทรวงแรงงานได้มีการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้วจำนวน 6 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ทั้งกับแรงงาน นายจ้าง และภาพลักษณ์ของภาคประมงไทย และสินค้าประมงไทยโดยรวม

สำหรับการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ประมาณกลางปีหน้า นั้น ขอย้ำว่าจะไม่กระทบ ต่อกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านแต่อย่างใด และจะใช้บังคับเฉพาะกับกลุ่มเรือประมงพาณิชย์ของไทยที่มีขนาด  30 ตันกรอสส์ขึ้นไปที่มีประมาณ 5,000 กว่าลำ สำหรับเรื่องโครงสร้างเรือจะใช้บังคับเฉพาะกับ เรือประมงพาณิชย์ที่เป็นเรือต่อใหม่ที่มีขนาด 300 ตันกรอสส์ขึ้นไปและขนาดความยาวตลอดลำเรือ 26.5 เมตรขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเรือที่ทำประมงนอกน่านน้ำไทย และหลายเรื่องไม่ได้เร่งให้ เจ้าของเรือต้องดำเนินการในทันทีทันใด แต่จะค่อยเป็นค่อยไปในทางปฏิบัติ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นจะ เกี่ยวข้องกับการดูแลลูกจ้าง สภาพการจ้าง รวมทั้งคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของลูกจ้างทั้งหมดเป็นสำคัญซึ่งขอเน้นย้ำว่าเราจะดูแลทั้งคนงานไทยและคนงานต่างด้าวในภาคประมงไทย

โดยรวมแล้ว กล่าวได้ว่า การให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 188 ไม่ได้สร้างภาระเพิ่มเติมต่อชาวประมง อย่างที่ในอดีตเคยมีบางท่านได้เคยแสดงความห่วงกังวลแต่อย่างใด เนื่องด้วยปัจจุบันประเทศไทย มีการบังคับใช้กฎหมายสอดคล้องกับข้อกำหนดของอนุสัญญาเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว (คิดเป็นร้อยละ 80) ได้แก่ กฎหมายที่มีอยู่ของกระทรวงแรงงาน กรมประมง กรมเจ้าท่ากรมการแพทย์ อาทิเช่น อายุขั้นต่ำ การตรวจสุขภาพ อัตรากำลัง ชั่วโมงพัก รายชื่อลูกเรือ สัญญาจ้างงาน การส่งแรงงานกลับจากท่าเรือใน ต่างประเทศ ไม่เก็บค่าบริการจัดหางานจากแรงงาน การจ่ายเงิน ที่พักอาศัยเหมาะสม อาหารน้ำดื่ม การดูแลรักษาการเจ็บป่วย ความปลอดภัยสุขภาพอนามัย การประกันสังคม เงินทดแทนการเจ็บป่วย เสียชีวิตจากการทำงาน เป็นต้น หลายเรื่องที่ระบุในอนุสัญญา C188 จึงเป็นมาตรการที่ประเทศไทย ดำเนินการภายใต้หน่วยงานดังกล่าวอยู่แล้ว

รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในกิจการ ประมงทะเลจำนวนกว่า 53,000คน เรื่องนี้รัฐบาลไม่เคยนิ่งนอนใจ และกระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการ  3 มาตรการ ได้แก่ 1) ต่ออายุแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในภาคประมงตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ออกไปอีก 2 ปี จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 ณ สำนักงานจัดหางาน 22 จังหวัดชายทะเล ซึ่งขณะนี้มีนายจ้างมาทะเบียน 757 ราย แจ้งความต้องการแรงงาน 19,334 คน 2) นำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และ 3) เปิดโอกาส ให้แรงงานอื่นที่ยังอยู่ในประเทศสามารถมาขอขึ้นทะเบียนทำงานในกิจการประมงได้เนื่องจากอาชีพ ประมงมักจะเป็นอาชีพสุดท้ายที่แรงงานจะเลือกทำ

“การรับรองอนุสัญญาฯ 188 จะเป็นแรงดึงดูดใจให้แรงงานประมงไทยมั่นใจยิ่งขึ้นว่าจะได้รับการดูแล มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างมาตรฐานที่ชัดเจนอันจะทำให้ทั้งนายจ้าง และลูกจ้างในภาคประมงมีความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพการทำงานและการจ้างงานในภาคประมงที่ตรงกัน ทั้งหมดนี้ จะส่งผลให้สินค้าไทยได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกว่ามีธรรมาภิบาล และเราผลิตสินค้า ที่ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ อันจะทำให้ในระยะยาว ผู้ประกอบการเองก็จะ สามารถส่งออกสินค้าได้มากขึ้น โดยผมจะเดินทางไปให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับนี้ด้วยตัวเอง คาดว่า จะสามารถยื่นอนุสัญญาฯ ได้ภายในปลายเดือนมกราคมนี้” พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าว