ไทยเตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับสูงด้านแรงงานระหว่างไทย-อียู ปีหน้า

ปลัดแรงงาน ร่วมหารือ คณะผู้แทนจากสหภาพยุโรป การประชุมฯ ด้านแรงงานระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป ในการเตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับสูงด้านแรงงานระหว่างไทยและสหภาพยุโรป ปีหน้า

วันที่ 29 พ.ค.61 นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงวิชาการด้านแรงงานระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 10 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ได้ให้การต้อนรับ คณะผู้แทนจากสหภาพยุโรป ซึ่งนำโดย นายหลุยส์ แพรทส์ หัวหน้าหน่วยการต่างประเทศ กระทรวงการจ้างงาน กิจการสังคม และการหลอมรวมทางสังคม นายจูเซปเป บูซินี่ รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย พร้อมคณะ โดยนายจรินทร์ฯ กล่าวว่า การประชุมเชิงวิชาการนี้ เป็นส่วนหนึ่งภายใต้การประชุมหารือด้านแรงงาน หรือ Labour Dialogue ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านแรงงานระดับทวิภาคีที่กระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทยและ DG-Employment คณะกรรมาธิการยุโรป ได้ร่วมกันริเริ่มขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการประชุมระดับสูงและลงนามในข้อตกลงการบริหารจัดการสำหรับ Labour Dialogue แล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม

และการประชุมครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของ Labour Dialogue ที่ฝ่ายไทยได้มีโอกาสต้อนรับผู้แทนฝ่ายสหภาพยุโรปในการเดินทางมาประชุมอย่างเป็นทางการ เพื่อหารือเชิงวิชาการร่วมกัน ในการเตรียมความพร้อมก่อนที่ฝ่ายไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับสูงด้านแรงงานระหว่างไทยและสหภาพยุโรปในปีหน้า ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานที่สำคัญและยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ทั้ง 2 ฝ่าย ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวการปฏิบัติที่ดี ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะ ในประเด็นที่สนใจร่วมกัน อันจะนำไปสู่พัฒนาการของการดำเนินงานด้านแรงงาน โดยหัวข้อเรื่องที่ฝ่ายไทยให้ความสำคัญในครั้งนี้ ได้แก่ งานที่มีคุณค่าในห่วงโซ่อุปทานของโลก และการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่ออนาคตของงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่อง “อนาคตของงาน” หรือ Future of Work ซึ่งเป็น 1 ใน 7 ของ การริเริ่มในโอกาสการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี การก่อตั้ง ILO ในปี พ.ศ. 2562 (ILO centenary initiatives) ด้วย

สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานในปัจจุบัน ประเทศไทยและสหภาพยุโรปได้รับผลกระทบจากสภาวการณ์และการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งที่เกิดจากปัจจัยภายใน รวมทั้งความท้าทาย ที่เป็นความมุ่งมั่นร่วมกันของประชาคมโลก จากภายนอกประเทศ โดยเฉพาะวาระ 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ (UN) ที่ประเทศสมาชิกต้องดำเนินการให้บรรลุ

สำหรับประเทศไทย นอกจากจะนับถอยหลังที่จะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2562 แล้ว ยังมีปัจจัยที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและคลื่นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 การพัฒนาประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 กับความหวังที่ประเทศไทยจะต้องก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ปัญหาผลิตภาพแรงงานไทยที่ยังต่ำ เป็นต้น

“ผมขอยืนยันว่าประเทศไทยพร้อมสำหรับความร่วมมือที่แน่นแฟ้นและจริงใจกับ DG-Employment ในการร่วมกันพัฒนากำลังแรงงานสู่การทำงานที่มีคุณค่า  มีอนาคตของงานที่เป็นธรรม อย่างครอบคลุมและเท่าเทียม ตามหลักสิทธิมนุษยชน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายจรินทร์ฯ กล่าวในท้ายสุด