รมว.พม. ย้ำ พมจ.ทั่วประเทศ คือทีมประเทศไทย ร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางระดับพื้นที่ พร้อมใช้ “สมุดพกครอบครัว” นวัตกรรมขจัดความยากจน

วันที่ 9 มี.ค. 64 เวลา 13.00 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) มอบนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางระดับพื้นที่ให้กับพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) ทั่วประเทศ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน ณ โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ

นายจุติ กล่าวว่า ตนขอนำข้อสั่งการของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาซักซ้อมความเข้าใจให้ตรงกันตามเป้าหมายที่จะต้องทำและความคาดหวังที่จะต้องมี ภายหลังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน ระหว่าง 12 กระทรวง 1 หน่วยงาน เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างจริงจัง ตามที่ธนาคารโลกบอกว่าประเทศไทยจะขยับเคลื่อนตัวไปไม่ได้ หากไม่แก้ไขประชาชนระดับล่าง ซึ่งตรงกับภารกิจของกระทรวง พม. ที่ต้องเร่งแก้ไขครอบครัวเปราะบาง ซึ่งมีประมาณ 4.1 ล้านครัวเรือน ตามที่นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำในภารกิจนี้ว่าทุกคนคือทีมประเทศไทย

นายจุติ กล่าวต่อไปว่า ส่วนการแก้ไขปัญหาครอบครัวเปราะบางนั้น จะดำเนินการภายใต้คณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐิจพอเพียง (คจพ.) โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งจะมีการนัดประชุมครั้งแรกในวันที่ 19 มีนาคม 2564 โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นหลัก ส่วนหน่วยงานที่เหลือจะร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยมีเป้าหมายคนจนต้องหมดจากประเทศไทย ส่วนจะตั้งเป้าหมายไว้กี่ปีนั้น ยังไม่ทราบ แต่ประเทศจีนใช้เวลาแก้ไขปัญหาความยากจน 12 ปี เพราะมีอำนาจและทรัพยากรมาก แต่ประเทศไทยจะพยายามใช้เทคโนโลยีมาช่วยในเรื่องความแม่นยำ ของบริการข้อมูล เพื่อเพิ่มความรวดเร็ว และประสานงาน ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะช่วยลดความขัดแย้งไปได้มาก

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ปัญหาความยากจน จะมีนวัตกรรม “สมุดพกครอบครัว” ซึ่งเป็นนวัตกรรมขจัดความยากจนของหลายประเทศ อย่างประเทศจีนได้นำมาทำมากที่สุด คล้ายกับหลักเกณฑ์คนไข้ด้านสังคมอยู่ในห้องไอซียู แล้วมีแพทย์เฉพาะทางหรือแต่ละกระทรวงมาดูว่าจะรักษาได้อย่างไรให้คนไข้หาย ให้ยารักษาหรือมาตรการช่วยเหลืออย่างไร โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นเสมือนหัวหน้าแพทย์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเสมือนผู้อำนวยการโรงพยาบาล ส่วนกระทรวง พม. เป็นเสมือนแพทย์ประจำตัว มีหน้าที่เฝ้าระวังดูแลผู้ป่วย และรายงานผลให้หัวหน้าแพทย์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลรับทราบ โดยจะมีการปรับการรักษาหรือมาตรการช่วยเหลือให้เหมาะสม ทั้งนี้ สมุดพกครอบครัวจะทำเป็นเล่มเก็บไว้แต่ละบ้าน และสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ที่แต่ละกระทรวงสามารถมอนิเตอร์ได้ เพื่อจะรู้ว่าต้องทำหน้าที่อะไร โดยจะมีการลงพื้นที่ประเมินครอบครัวว่าเข้าถึงปัจจัย 4 สิทธิและสวัสดิการภาครัฐ การลดละเลิกอบายมุข ตลอดจนการมีอาชีพ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากครัวเรือนยากจนได้เข้าถึงมาตรการรอบด้านจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในเบื้องต้น เป็นมาตรการที่เริ่มต้นในหลายจังหวัดเรียบร้อยแล้ว