ชป.เดินหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างฯ ลดปัญหาน้ำท่วมเทศบาลเมืองเพชร

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่เขตเทศบาลเมือง จังหวัดเพชรบุรี ช่วงระหว่างวันที่ 8-9 พฤศจิกายน 2561 มีสาเหตุมาจากหย่อมความกดอากาศต่ำที่เคลื่อนผ่านจังหวัดเพชรบุรี ส่งผลให้มีฝนตกหนักในเขตจังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่คืนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 ต่อเนื่องถึงช่วงกลางวันของวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 วัดปริมาณฝนบริเวณ อ.เมืองเพชรบุรี ได้มากถึง 194 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่   ลุ่มต่ำในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรีหลายจุด สาเหตุมาจากน้ำระบายไม่ทัน

สำหรับการช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมขัง กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 8 เครื่อง ได้แก่ สะพานเทศบาล สะพานพระจอมเกล้า สะพานท่าสงฆ์ ปลายคลองบัว ปลายคลองวัดเกาะ สะพานใหญ่ และสะพานอุรุพงษ์ นอกจากนี้ ทางเทศบาลเมืองเพชรบุรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการทำงานร่วมกัน เร่งเปิดท่อระบายน้ำ จัดเก็บขยะที่มาอุดตัน จนทำให้สถานการณ์น้ำท่วมเข้าสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็ว ในช่วงเย็นของวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561

ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเพชรบุรี ในช่วงที่เกิดฝนตกหนัก นั้น อ่างเก็บน้ำที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเพชรบุรี ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำ 642 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 90 ,อ่างเก็บน้ำห้วยผาก มีปริมาณน้ำ 21 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 76 และอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ มีปริมาณน้ำ 24 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 56  ในขณะที่เขื่อนเพชร มีปริมาณน้ำไหลผ่านลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ในอัตราเพียง 10 ลบ.ม./วินาที อีกทั้ง แม่น้ำเพชรบุรีในช่วงที่ไหลผ่านเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี มีปริมาณน้ำไหลผ่านเพียง 32 ลบ.ม./วินาที และมีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3.07 เมตร (ขณะที่ศักยภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี ระบายน้ำได้สูงสุด 150 ลบ.ม./วินาที) ดังนั้น สาเหตุน้ำท่วม    ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ไม่ได้เกิดจากน้ำเอ่อล้นตลิ่งแม่น้ำเพชรบุรีแต่อย่างใด

ส่วนแผนงานในระยะยาว กรมชลประทาน มีแผนที่จะดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของลุ่มน้ำเพชรบุรี โดยการเร่งรัดโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยการปรับปรุงคลองส่งน้ำ RMC3 , 1R-RMC3 ต่อเชื่อมกับปรับปรุงคลองระบายน้ำ D9 ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 รวมทั้งวางแผนขุดขยายคลองระบายน้ำ D1 และ D18 ในระยะต่อไป สามารถตัดยอดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่    เขื่อนเพชรและแม่น้ำเพชรบุรีได้มากถึง 650 ลบ.ม./วินาที นอกจากนี้ ยังได้วางแผนดำเนินโครงการก่อสร้าง      อ่างเก็บน้ำห้วยสาลิกา และอ่างเก็บน้ำแม่ประจันต์ตอนล่าง เพื่อตัดยอดน้ำหลากในลุ่มน้ำแม่ประจันต์ และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้งได้อีกด้วย

**********************************

กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์