กสม.และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคแห่งที่ 11 มุ่งอำนวยความสะดวกประชาชนพื้นที่ภาคอีสานเข้าถึงกลไกการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิฯ

วันที่ 5 มีนาคม 2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจัดพิธีเปิด ‘ศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค’ ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการนี้ นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ศึกษาและประสานงานฯ

พร้อมกล่าวเปิดงานสรุปว่า กสม. ในฐานะ สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามหลักการปารีส และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา คือ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคขึ้นเป็นแห่งที่ 2 .ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และถือเป็นศูนย์ศึกษาฯ แห่งที่ 11 จากทั่วประเทศ โดยศูนย์ศึกษาฯ แห่งนี้มีความมุ่งหมายประการสำคัญ เช่น การสร้างความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน การประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเบื้องต้น การรับส่งเรื่องร้องเรียนให้สำนักงาน กสม. การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนเบื้องต้นเพื่อเสนอประเด็นการศึกษาวิจัย การประสานหรือแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค

นางประกายรัตน์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กสม. ได้ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ จัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคขึ้นมาแล้ว จำนวน 10 แห่ง ใน 6 ภูมิภาค ซึ่งเริ่มจัดตั้งแห่งแรกในปี 2557 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จังหวัดปัตตานี ต่อมาในปี 2560 เพื่อขยายความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชนให้ครอบคลุมพื้นที่ภูมิภาคยิ่งขึ้น กสม. ชุดที่ 3 จึงได้จัดตั้งศูนย์ศึกษาฯ เพิ่มขึ้นอีก 5 แห่ง ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ภาคตะวันออก ณ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ภาคใต้ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภาคเหนือ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และภาคตะวันตก ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี

ปลายปี 2563 ต่อเนื่องมายังปี 2564 ได้เปิดศูนย์ศึกษาฯ เพิ่มเติมขึ้นอีก 4 แห่ง ในภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคเหนือ และภาคใต้ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยพะเยา จังหวัดพะเยา และมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ตามลำดับรวมเป็น 10 แห่ง เมื่อรวมกับการเปิดศูนย์ศึกษาฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในวันนี้แล้ว ก็จะรวมเป็นทั้งสิ้น 11 แห่ง โดยภายในเดือนมีนาคมนี้ ยังมีกำหนดการเปิดศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เพิ่มอีก 1 แห่ง ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จังหวัดยะลา ด้วย

“การดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมาของศูนย์ศึกษาฯ ในทุกภูมิภาค ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ดำเนินภารกิจด้านการส่งเสริม คุ้มครอง และเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชน โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ การส่งเสริมการศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนผ่านการขับเคลื่อนคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 5 ช่วงชั้น การจัดอบรมวิทยากรกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา การจัดทำโครงการเยาวชนคนรุ่นใหม่ใส่ใจและยืนเคียงข้างสิทธิมนุษยชน การจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชน เป็นต้น โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศูนย์ศึกษาฯ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แห่งที่ 2 ซึ่งบัดนี้ได้จัดตั้งขึ้นแล้ว ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จะเป็นกลไกที่สำคัญและมีประสิทธิภาพอีกแห่งในการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้เข้าถึงกลไกด้านสิทธิมนุษยชนอย่างสะดวกและรวดเร็วต่อไป โดยไม่มีผู้ใดถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง” ประธาน กสม. กล่าว

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร. ชุตินันท์ ประสิทธิภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีก่อตั้งมายาวนานกว่า 30 ปี มีความมุ่งเน้นและยึดมั่นในการถ่ายทอดความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่นักศึกษา โดยมหาวิทยาลัยพร้อมเป็นศูนย์กลางของกลไกสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ครอบคลุมทั้งการศึกษาวิจัย การให้ความรู้เรื่องสิทธิและความเท่าเทียม การคุ้มครองสิทธิสตรีและผู้ด้อยโอกาสในสังคม ทั้งนี้เพื่อร่วมสร้างสังคมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยบชนอย่างยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ งานดังกล่าวในช่วงเช้ายังมีการปาฐกถาเรื่อง “สิทธิสตรี คือ สิทธิมนุษยชน” โดย Ms. Cynthia Veliko ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Mrs. Helene Budliger Artieda เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย และ Dr. Sarah Taylor เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย การบอกเล่าเสียงจากเยาวชนในประเด็นสิทธิสตรีโดยนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขณะที่ช่วงบ่ายมีการสัมมนาหัวข้อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสังคมที่มีความหลากหลาย

โดยมีเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ผู้แทนองค์กร Human Rights Watch (HRW) คณาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภาคประชาชนและนักศึกษาเข้าร่วมงานกว่า 150 คน