พาณิชย์ ปลื้ม ศักยภาพโครงการพัฒนาเครื่องประดับชนเผ่า เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมแห่งดินแดนอีสานใต้ ต่อยอด (อีสานมอร์เดิ้น) เตรียมโกอินเตอร์เข้าสู่ตลาดโลก

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยว่า “ในฐานะที่ได้กำกับดูแลการดำเนินงานของ GIT ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านอัญมณีและเครื่องประดับโดยเฉพาะ ได้มอบหมายให้สถาบันลงพื้นที่พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการพัฒนาคุณภาพบุคลากร การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ ตลอดจนถึงการพัฒนาช่องทางการตลาดใหม่ๆ และสามารถสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นได้เพิ่มขึ้นเมื่อปี 2563 นี้ ที่เกิดวิกฤติโควิด 19 จึงได้เร่งให้สถาบันได้ลงไปพัฒนาเครื่องประดับชนเผ่า เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมแห่งดินแดนอีสานใต้ (อีสานเดิ้น) ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ซึ่งมีส่วนช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ให้แก่ช่างฝีมือและผู้ประกอบการทั้งในภูมิภาค อย่างเช่นท้องถิ่นในโคราช ที่มีการนำดินด่านเกวียนมาออกแบบเป็นเครื่องประดับ สามารถสร้างมูลค่าให้กับดินด่านเกวียนซึ่งถือได้ว่าเป็นดินที่มีลักษณะเฉพาะให้มีมูลค่าเพิ่มกว่าเดิมมากมายหลายเท่าตัว และจากผลของโครงการดังกล่าว ซึ่งถือได้ว่ามีผลตอบรับที่ดีมาก จึงได้มอบหมายให้สถาบันดำเนินการต่อยอดเพื่อพัฒนาศักยภาพและขยายผล สู่การต่อยอดโครงการเครื่องประดับอีสานใต้สู่สากล (อีสานมอร์เดิ้น) ในปี 2564 ที่มุ่งเน้นความสามารถในการพัฒนาด้านเทคนิคการผลิตและการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างแบรนด์ เพิ่มการเข้าถึงช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ อันจะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้ชุมชนพึ่งตัวเองได้ในระยะยาวต่อไป”

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในภูมิภาค (Gems Treasure) ถือได้ว่าเป็นโครงการสำคัญของสถาบันที่ได้ลงไปบูรณาการร่วมกับส่วนงานต่างๆ ซึ่งปัจจุบันได้ลงพื้นที่ไปแล้วกว่า 15 จังหวัด โดยพัฒนาคุณภาพบุคลากร พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการพัฒนา

ช่องทางการตลาดใหม่ๆ สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และมีผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ในปี 2563 ที่ผ่านมาจึงได้ดำเนินโครงการเครื่องประดับชนเผ่า เอกลัษณ์ทางวัฒนธรรมแห่งดินแดนอีสานใต้ (อีสานเดิ้น) ซึ่งมีผู้ประกอบการและผู้สนใจเข้าร่วมการฝึกอบรมทั้งสิ้น 417 ราย และ หลังจากนั้น เราได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจนเหลือเพียง 20 ราย จาก 5 จังหวัด เพื่อมาทำงานร่วมกับนักออกแบบมืออาชีพ เกิดเป็นเครื่องประดับร่วมสมัยที่แสดงถึงอัตลักษณ์แห่งท้องถิ่นถึง 5 คอลเลคชั่น

สำหรับในปีนี้ 2564 เพื่อต่อยอดโครงการดังกล่าวให้ก้าวเข้าสู่การโกอินเตอร์อย่างเต็มภาคภูมิ เราได้จับมือบูรณาการร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งนักออกแบบชื่อดัง อาทิ พลัฎฐ์ จิรพุฒินันท์ อเนก ตันตสิรินทร์ กนกกร ล้ำเลิศ วนัส โชคทวีศักดิ์ ณิชภัค ต่อสุทธิ์กนก และ ปฏิพัทธิ์ ชัยวิเทศ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ และ เอกชนอีกจำนวนมาก เพื่อร่วมสร้างมูลค่าเพิ่มแก่เครื่องประดับอัตลักษณ์อีสานใต้ ทั้งการพัฒนารูปแบบ คุณภาพ และมาตรฐานสินค้า รวมทั้งขยายโอกาสทางการตลาดแก่ผู้ประกอบการเครื่องประดับ และยกระดับสินค้าให้ได้รับการยอมรับทั้งในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศโดยตั้งเป้าหมายในการลงพื้นที่ 5 จังหวัดต่อเนื่อง นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี โดยคาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมอบรมไม่น้อยกว่า 200 คน และหลังจากนั้นสถาบันจะคัดเลือกผู้ประกอบเหลือเพียง 20 ราย มาสร้างสรรค์ผลงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และนักออกแบบแถวหน้าของประเทศ เพื่อพัฒนา และออกแบบเครื่องประดับต้นแบบที่มาจากแนวคิดสร้างสรรค์ และอัตลักษณ์ของ “อีสานใต้” อย่างแท้จริง พร้อมขยายสู่สากล

นอกจากการเรียนการสอนในระบบปกติ และการอบรมผ่านระบบออนไลน์แล้ว สถาบันยังได้พัฒนาแอพลิเคชั่นที่ปรึกษา โดยใช้ชื่อว่า “CARAT” (กะรัต) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจในภูมิภาคได้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับ โดยสถาบันได้จัด กูรู ที่มีความรู้ทั้งด้านอัญมณี โลหะมีค่า และการออกแบบ พร้อมให้บริการอย่างครบวงจร แพลตฟอร์มให้คำปรึกษาด้านอัญมณีและเครื่องประดับโดยเฉพาะตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่ง แอพลิเคชั่นดังกล่าว เปิดให้ดาวน์โหลดฟรีแล้ว ผ่านระบบ IOS และ Android นายสุเมธ กล่าวสรุป