สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : ส่องฟ้า ยาต้านพิษ พิชิตปวดเมื่อย

ส่องฟ้า 

ชื่อวิทยาศาสตร์ Clausena harmandiana (Pierre) Pierre ex Guill.

ชื่อวงศ์ RUTACEAE

ชื่ออื่นๆ โปร่งฟ้า

ลักษณะทั่วไป ไม้พุ่มขนาดเล็ก ใบประกอบแบบขนนก เนื้อใบมีจุดน้ำมันกระจาย ดอกช่อสีขาววแกมเหลือง

การขยายพันธุ์ ใช้เมล็ด

ส่องฟ้า ยากำลังของพระธุดงค์

พ่อหมอยาสุนทร เคยเล่าว่าเมื่อครั้งยังหนุ่มในการบวชพรรษาแรกได้มีโอกาสเดินธุดงค์ตามหลวงปู่ขาว ในตอนที่ต้องธุดงค์ผ่านป่า 3 วัน 7 วัน บางทีไม่มีบ้านคนให้บิณฑบาตท่านได้เสกใบส่องฟ้ากับใบหมากเม่ากิน เพื่อที่จะได้มีกำลังเดินต่อไป ไม่เหนื่อย ไม่ปวดเมื่อย ไม่หิว ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าทำไมต้องเป็นใบส่องฟ้า เนื่องจากในใบส่องฟ้ามีค่าโปรตีน 11.67 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 3.41 เปอร์เซ็นต์ เถ้า 10.78 เปอร์เซ็นต์ คาร์โบไฮเดรต 55.64 เปอร์เซ็นต์  นอกนั้นก็เป็นเยื่อใยหรือสารที่ถูกย่อยอื่นๆ

ที่จริงแล้วยอดและใบของส่องฟ้าเป็นอาหารของชอบของวัว ควาย ที่จะมาแทะเล็มอยู่เสมอ และเนื่องจากความที่เป็นยาร้อนก็จะช่วยในการเผาผลาญ ทำให้มีเรี่ยวมีแรงมากขึ้น รวมทั้งใบส่องฟ้า จะทำให้ลิ้นรู้สึกขมๆ ซ่าๆ ชาๆ ทำให้ไม่หิวก็เป็นได้   การใช้ส่องฟ้าของพระธุดงค์ก็เป็นเรื่องน่าทึ่งไม่น้อย ส่วนใบหมากเม่ามีรสเปรี้ยว ช่วยให้สดชื่น ชุ่มคอ

ส่องฟ้า ยาเลิกบุหรี่ เลิกเหล้า

ทางภาคเหนือเรียกส่องฟ้าว่าโปร่งฟ้า ใช้เป็นยาเลิกบุหรี่เลิกเหล้า   ภญ.รศ.ดร.พาณี ศิริสะอาด คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าว่าหมอยาพื้นบ้าน จังหวัดลำพูน ชื่อ นายอินสม สิทธิตัน สืบทอดวิธีรักษายาเสพติดจากครูบาหวัน วัดห้วยห้าง ตำบลตะเคียน อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน เป็นหมอพื้นบ้านด้านพิธีกรรมได้รักษาคนติดยาเสพติด ติดเหล้า ติดบุหรี่ โดยการใช้ทั้งพิธีกรรม และการใช้สมุนไพร โดยจะให้ผู้ป่วยอบยาสมุนไพรและให้กินใบโปร่งฟ้าให้เคี้ยวสดๆ ดิบๆ หรือใช้ใบแห้งชงดื่ม  มีคนจำนวนไม่น้อยยืนยันว่าใช้ได้ผลดี

ส่องฟ้า ยาดี ศรีอีสาน

ส่องฟ้า เป็นพืชตระกูลส้มเมื่อนำใบมาส่องดูจะเห็นเป็นต่อมน้ำมันใสๆ กระจายทั้งใบ มองทะลุเห็นฟ้าได้ ขยี้ดูจะมีกลิ่นหอมเหมือนใบพืชตระกูลส้มทั่วไป  แต่กลิ่นจะหอมฉุนกว่า ส่องฟ้ามีบันทำไว้ ในตำรายาใบลานอีสาน  เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้หนาวสั่น แก้กินผิด แก้พิษงู แก้ปวดท้อง แก้ไอ แก้ปวดเมื่อย แก้ฝี

ปัจจุบันส่องฟ้าเป็นสมุนไพรอีสานที่นักวิจัยไทยทำการศึกษาวิจัยมากที่สุดตัวหนึ่ง พบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและสารสำคัญมากมาย เช่น การพบสารต้านมาลาเรียจากรากส่องฟ้า การพบฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุที่เกิดโรคในสัตว์ การพบฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ และต้านการอักเสบ การศึกษาพิษเฉียบพลันไม่พบความเป็นพิษ มีฤทธิ์ต้านอ๊อกซิเดชั่นและฤทธิ์ฟื้นฟูประสิทธิภาพการเรียนรู้ และความจำในสัตว์ทดลอง เป็นต้น เป็นที่น่าดีใจว่าการศึกษาวิจัยของส่องฟ้ามีมากทั้งจำนวนและความลึก เชิงคุณภาพของงาน

ส่องฟ้า ยาอบ ยาประคบ ยาย่าง สร้างกลิ่นหอม

หมอยาอีสานเป็นภาคที่เชี่ยวชาญเรื่องการใช้ยาประคบ อบ อาบ ย่างที่สุดภาคหนึ่ง และแทบจะกล่าวได้ว่าสมุนไพรตัวเก่งในการเข้ายาเหล่านั้นคือ ส่องฟ้า โดยมีคู่หูคือสะมัด (บางทีสะกดสมัด แบบไหนแน่)เหมือนกับคู่ของ ผีเสื้อกับบัวฮา เปล้ากับหนาด การที่ส่องฟ้าเป็นที่นิยมในกรณีนี้เนื่องมาจาก ใบของส่องฟ้ามีน้ำมันหอมระเหย มีกลิ่นหอมของพืชตระกูลส้ม จึงสามารถแก้วิงเวียน ทำให้หายใจโล่ง ทำให้เลือดลมไหลเวียนดี ทั้งยังมีฤทธิ์แก้ปวด แก้อักเสบตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ตำรับยา

ยาแก้กินของผิด ผะอืดผะอม วิงเวียน : รากพวงพี รากสมัดใหญ่ รากส่องฟ้ารากหญ้านาง ต้มน้ำกิน วันละ 3-4 ครั้ง

ยาฟกช้ำจากการกระทบกระแทก : กิ่งและใบส่องฟ้า กิ่งและใบสมัด เปลือกกุ่ม เปลือกก่าม หัวไพล เถาและใบของเอ็นอ่อน ทุกอย่างใช้ของสด นำยาทั้งหมดมาบดทำเป็นลูกประคบตามตัวสัก 5-6 วัน

ยาปวดหลังปวดเอว: รากสะมัด รากส่องฟ้า ใช้เป็นสมุนไพรสด นำมาต้มจนได้ยาสีเหลืองใสมีกลิ่นหอม รับประทานเช้า เย็น

ยาแก้ไอ: รากส่องฟ้าหนึ่ง รากมะเขือขื่นหนึ่ง รากหมากแข้ง (มะแว้ง) หนึ่ง หนักสิ่งละ 5 บาท เกลือบาทหนึ่ง ต้มด้วยน้ำสามบวยเอาบวยหนึ่ง กินดี

ยาคอแหบ: ให้เอาฮากส่องฟ้า ฮากดอกพุด ฮากกระจาย ฮากมะเขือขื่น ฮากพวงพี พริก 7 ขิง 7 เทียม 7 ตำใส่น้ำผักคาดเป็นกระสายยา อมกินหายแล

ยาแก้ไข้หวัด : นวดใบส่องฟ้าแช่น้ำกินหายแล หรือจะเอากิ่ง ใบ มาต้มน้ำกินก็ได้

ยาปวดหัว มัวเหล้า : กิ่งใบ ส่องฟ้า ต้มกิน

ยาฟก (ฟกช้ำ) : หญ้าหอมแก้ว (กะเม็ง) 1 ใบมะขามตำโพะ (พอก) ยากินในเอาฮากน้ำเต้าน้อย 1 เครือหางหนู (ชิงช้าชาลี) 1 ส่องฟ้า 1 ต้มกินฯ

ยาถอนพิษงู : รากสะมัด รากส่องฟ้า ฝนกับสุราให้กิน 1-2 กลืน แล้วใช้รากส่องฟ้าฝนกับน้ำมะนาวทา

ยาตั้ง (ประคบ) : ว่านชน ต้นสะมัด ต้นส่องฟ้า ต้นฮูหา (เสนียด) เปลือกมะรุม เปลือกต้นลิ้นฟ้า   ว่านไฟ ว่านพาก ทั้งหมด สับละเอียด ผ้าหม้อนิลห่อนึ่งแล้วนำมาตั้งบริเวณที่ปวด

ยาแก้หนาว : ฮากส่องฟ้า ฮากสะมัดเผาไฟแช่กินดีแล

ยาปาดหัว : กิ่งและใบส่องฟ้า กิ่งและใบสะมัด ผักอีตู่ (กะเพรา) สีไค (ตะไคร้) ใบมะตูม ตำน้ำตบหัวเทิน

ยาเมื่อย :  ฮากส่องฟ้า ฮากกะยอม เครือเอ็นอ่อน ตำเคี่ยวกับน้ำมันงา ทาดี

ยางูจงอางขบ : ฮากส่องฟ้า ฝนทาดี

ยาแม่อยู่กรรม : ใบและรากพวงพี ใบและรากสะมัด ใบและรากส่องฟ้า ต้มอบต้มกิน

ยาช้ำใน รถชน ตกต้นไม้ : ใบเปล้าสด ใบหนาดสด ใบสะมัด ใบส่องฟ้า ทำเป็นยาย่าง

ยาริดสีดวงลำไส้ :  เอาใบส่องฟ้ามาต้มอาบทั้งกินดีแล

ยาฝีปลาค่อ ที่มันบวมขึ้นภายนอกยาวเป็นลอนตามต้นขา : ฮากช่องฟ้าฝนใส่น้ำปูนใส

เรื่องน่ารู้

  • ส่องฟ้าเป็นสมุนไพรในป่าโปร่ง พบในไม่กี่ประเทศ อันมี ไทย ลาว เขมร เวียดนาม มาเลเซีย

#ส่องฟ้า เดินหน้ามาไกล เป็นความหวังตัวยาใหม่ของสมุนไพรไทย…………………………………