กรมอนามัย เร่งพัฒนาหลักสูตรพระคิลานุปัฏฐาก ดูแลสุขภาวะพระสงฆ์

กรมอนามัย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาหลักสูตรพระคิลานุปัฏฐาก หรือพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อสว.) เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาวะพระสงฆ์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี การจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ และให้พระสงฆ์มีบทบาทในการดูแลชุมชนและสังคม

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนา หลักสูตรพระคิลานุปัฏฐาก หรือพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อสว.) ณ ห้องประชุมบุษบา โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต จังหวัดปทุมธานี ว่า สถานการณ์ปัญหาโภชนาการและการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในพระสงฆ์เป็นสถานการณ์เร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข จากการตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์และสามเณรทั่วประเทศ จำนวน 122,680 รูป ในปี 2559 พบป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน มากที่สุด และจากข้อมูลการตรวจคัดกรองพระสงฆ์และสามเณร ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 6,375 รูป ของโรงพยาบาลสงฆ์ ในปี 2559 พบว่า พระสงฆ์และสามเณร มีสุขภาพดี ร้อยละ 52.3 มีความเจ็บป่วยเพิ่มสูงขึ้น จากร้อยละ 17.5 เป็นร้อยละ 28.5 และพบพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ ได้แก่ สูบบุหรี่ โรคอ้วนและป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่ใส่บาตรทำบุญของประชาชน ที่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจและตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพพระสงฆ์

“กรมอนามัย ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตรพระคิลานุปัฏฐาก (พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด – อสว.) ตั้งแต่ต้นปี 2561 เป็นต้นมา เพื่อให้พระคิลานุปัฏฐาก (พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด – อสว.) มีความรู้ ความเข้าใจ ในการดูแลสุขภาพของตนเองและสามารถให้คำแนะนำดูแลพระสงฆ์และชุมชนได้ เตรียมความพร้อมระบบการดูแลพระสงฆ์และการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ซึ่งพระสงฆ์ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และพัฒนาศักยภาพพระสงฆ์แกนนำให้เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและการพัฒนาสุขภาวะชุมชน ปัจจุบันมีพระผ่านการอบรมหลักสูตรดังกล่าวแล้ว จำนวน 709 รูป สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาหลักสูตรพระคิลานุปัฏฐาก (พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด – อสว.) ส่งเสริมให้พระสงฆ์  มีบทบาทต่อการดูแลสุขภาพตนเอง ชุมชน สังคม และส่งเสริมการดูแลสุขภาวะพระสงฆ์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม ตลอดจนการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ โดยก่อให้เกิดการเชื่อมโยงวัดกับชุมชน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/