กรมปศุสัตว์ เดินหน้ายกระดับการจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้างทั่วประเทศให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง พ.ศ. 2563

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง พ.ศ. 2563 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป กรมปศุสัตว์จึงแนะนำให้ผู้ประกอบการปางช้าง เจ้าของช้าง ควาญช้าง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเตรียมความพร้อม ปรับปรุง พัฒนากิจการปางช้างให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าว

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยในปัจจุบันมีจำนวนประชากรช้างเลี้ยงมีประมาณ 3,783 เชือก และช้างป่าประมาณ 3,000 – 3,500 ตัว โดยช้างเลี้ยงส่วนใหญ่จะอาศัยภายในปางช้าง ซึ่งในปัจจุบันปางช้างในประเทศไทยถือว่าเป็นธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างหนึ่งที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้เป็นจำนวนมาก จึงต้องมีการจัดสวัสดิภาพช้างให้มีความเหมาะสม กรมปศุสัตว์จึงได้ให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง จึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 เสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง พ.ศ. 2563

โดยอาศัยการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้แทนกลุ่มผู้เลี้ยงช้าง ผู้แทนมูลนิธิ กลุ่มคนรักช้าง และนายสัตวแพทย์ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย สาระสำคัญของประกาศจะเป็นกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ประกอบการปางช้าง เจ้าของช้าง ควาญช้าง ต้องจัดสวัสดิภาพช้างในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการจัดการอาหารและน้ำ ด้านการจัดที่พักอาศัยและสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพอนามัย การรักษาและการป้องกันโรค ด้านพฤติกรรมตามธรรมชาติ ด้านสภาวะจิตใจ ตลอดจนการกำหนดให้มีการใช้งานช้างอย่างเหมาะสม ตามเงื่อนไขการใช้งานช้างในประเภทต่าง ๆ ได้แก่ การใช้งานเพื่อขี่เป็นพาหนะ เพื่อการแสดง เพื่อประกอบกิจกรรมร่วมกับช้าง และเพื่อชักลาก โดยได้กำหนดเงื่อนไขอายุช้าง เวลาทำงาน เวลาพักช้าง ลักษณะการใช้งาน น้ำหนักบรรทุก และระยะชักลากตามประเภทการใช้งานช้าง

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของช้างในปางช้าง ซึ่งจะส่งผลให้ช้างได้รับการจัดสวัสดิภาพอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับมาตรฐานปางช้างที่กำลังจะประกาศเป็นมาตรฐานบังคับในอนาคตอันใกล้นี้ และก่อนที่ประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวปรับปรุง พัฒนา การจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้างให้เป็นไปตามประกาศดังกล่าว โดยเมื่อประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้วย่อมเป็นประโยชน์แก่ทั้งต่อตัวช้าง ผู้ประกอบการ เจ้าของช้าง ควาญช้าง และประชาชนทั่วไป อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติในการมาท่องเที่ยวปางช้างในประเทศไทยอีกด้วย