เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานจัดทำแนวทางสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวล ครั้งที่ 2/2564 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกไม้เศรษฐกิจ (ไม้โตเร็ว) เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยมี นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ นางอรรชกา สีบุญเรือง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นายเสกสรร เสริมพงศ์ รองผู้ว่าการวางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม
นายระพีภัทร์ กล่าวว่า แนวทางสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวลจะใช้หลักการตลาดนำการผลิตโดยนำความต้องการวัตถุดิบสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลของกระทรวงพลังงานมาใช้คาดการณ์ปริมาณความต้องการและพื้นที่ปลูกไม้โตเร็ว เบื้องต้นกลุ่มพื้นที่เป้าหมายที่มีโอกาสในการส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้โตเร็ว ได้แก่ พื้นที่นาดอนนอกเขตชลประทาน จำนวน 18.53 ล้านไร่ และพื้นที่ตามนโยบายลดพื้นที่ปลูกของรัฐบาล เช่น การปลูกยางพาราในพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3/N) จำนวน 6.11 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกษตรกรปลูกพืชชนิดเดิมและให้ผลตอบแทนต่ำ
“เบื้องต้นคณะทำงานจัดทำแนวทางฯ ได้เสนอผลการศึกษา ไม้โตเร็ว จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ กระถินณรงค์ กระถินเทพา กระถินยักษ์ ยูคาลิปตัส ไผ่ และหญ้าเนเปียร์ พบว่า ไม้เศรษฐกิจโตเร็วหลายชนิดเหมาะสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยเฉพาะกระถินยักษ์ที่มีจุดเด่นสำคัญ คือ สามารถปลูกและเติบโตได้ในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ สามารถปลูกและเริ่มตัดใช้ประโยชน์ได้ในปีที่ 3 จากนั้นจะเริ่มแตกหน่อและสามารถตัดใหม่ได้ทุกๆ 2 ปี โดยโรงไฟฟ้าชีวมวล 1 เมกะวัตต์ จะมีความต้องการไม้สับประมาณปีละ 15,000 ตัน จึงต้องใช้พื้นที่ปลูกไม้โตเร็ว (กระถินยักษ์) ปีละ 1,364 ไร่ ส่งผลให้มีพื้นที่ส่งเสริมรวมทั้งสิ้น 4,091 ไร่ ต่อโรงไฟฟ้าชีวมวล 1 เมกะวัตต์ ดังนั้น โรงไฟฟ้าชีวมวล 75 เมกะวัตต์ จะมีความต้องการไม้สับปีละ 1,125,000 ตัน ใช้พื้นที่ปลูกไม้โตเร็ว (กระถินยักษ์) ปีละ 102,300 ไร่ พื้นที่รวม 3 ปี จะต้องใช้พื้นที่ทั้งสิ้น 306,900 ไร่” รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สำหรับแนวทางสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวลจะใช้หลักการแบ่งปันต้นทุนและผลตอบแทน (Cost and Profit Sharing) และหลักการระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) เพื่อสร้างหลักประกันและผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างเกษตรกร โรงไฟฟ้าชีวมวล และชุมชน สามารถคุ้มครองผลประโยชน์ของเกษตรกรผ่านวิสาหกิจชุมชน และเป็นเงื่อนไขในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่กำหนดให้วิสาหกิจชุมชนที่มีเกษตรกรเป็นสมาชิกร่วมถือหุ้นในโรงไฟฟ้าร้อยละ 10 ตามกรอบที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกำหนด