กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ มูลนิธิวิชาหนังสือ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การส่งเสริมวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือของประเทศไทย

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564  นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การส่งเสริมวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือของประเทศไทย ระหว่าง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มูลนิธิวิชาหนังสือ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โอกาสนี้ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายมกุฎ อรฤดี เลขานุการมูลนิธิวิชาหนังสือ ผู้บริหารกรมส่งเสริมวัฒนธรรมและผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องประชุม ชั้น 8 กระทรวงวัฒนธรรม

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วธ. กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม ซึ่งเน้นการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง โดยมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาคนในทุกมิติและทุกวัยให้เป็นคนมีคุณภาพ รับผิดชอบสังคมและผู้อื่น ใฝ่ใจการเรียนรู้ พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต กระทรวงวัฒนธรรมจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้คนไทยมีค่านิยมที่พึงประสงค์ สนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความรู้ พัฒนาความคิด ถ่ายทอดภูมิปัญญา และร่วมสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม

ซึ่งการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพเพื่อให้บรรลุผลตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวนั้น สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ด้วยการส่งเสริมวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ด้วยหนังสือเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสวงหาความรู้ เป็นบ่อเกิดขององค์ความรู้ เป็นกลไกในการพัฒนาการเรียนรู้ พัฒนาความคิดที่เป็นระบบ พัฒนาจิตใจและศักยภาพของมนุษย์รวมทั้งสร้างจินตนาการก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ทำให้คนเราสามารถเรียนรู้และปรับตัวให้ทันต่อสภาพสังคมและเหตุการณ์ของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้อย่างเหมาะสม อันจะส่งผลต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติโดยรวมในที่สุด

ด้าน นายชาย นครชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เล็งเห็นความสำคัญของหนังสือว่าเป็นเครื่องมือแห่งการพัฒนาวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมแนวคิดทางเศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรมจึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้คนไทยมีค่านิยมที่รู้คุณค่าและประโยชน์ของการอ่านหนังสือ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาคุณภาพคนไทยและเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ในระดับภูมิภาคและระดับสากล ดังนั้น กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้ร่วมกับมูลนิธิวิชาหนังสือ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถาบันไทยศึกษา จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือของประเทศไทย ฉบับนี้ขึ้น

เพื่อจัดทำแผนพัฒนาวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือของประเทศไทย (พ.ศ. 2565-2569)  ให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการอ่านหนังสือ และสื่อการเรียนรู้ที่ดีมีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง อีกทั้งเพื่อส่งเสริมรากฐานของวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือของประเทศ และกลไกการเผยแพร่หนังสือทุกรูปแบบ โดยมุ่งหวังว่าการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ จะมีประโยชน์แก่สาธารณชนอย่างกว้างขวาง สร้างวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือของประเทศได้ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาคนและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

ด้าน นายมกุฏ อรฤดี เลขานุการมูลนิธิวิชาหนังสือ กล่าวว่า มูลนิธิวิชาหนังสือจัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษา ค้นคว้า วิจัยเชิงวิชาการด้านหนังสือ ทั้งรูปแบบและเนื้อหา สนับสนุนวิชาชีพหนังสือ ระบบหนังสือ รวมทั้งสนับสนุนการอ่าน ระบบหนังสือสาธารณะและระบบหนังสือหมุนเวียน มูลนิธิวิชาหนังสือตระหนักว่าหนังสือเป็นหลักฐานสำคัญแห่งยุคสมัยของมนุษยชาติ เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาความคิด สติปัญญาของมนุษย์ให้งอกงามสมบูรณ์ การอ่านหนังสือนับเป็นกิจกรรมอันสำคัญยิ่งของมนุษยชาติ ด้วยหนังสือคือสิ่งจรรโลงมนุษย์ให้พัฒนาขึ้น เป็นเครื่องมือถ่ายทอดความคิดและความบันเทิง หนังสือจึงไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือยแต่เป็นอาหารสมอง เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ การส่งเสริมวัฒนธรรมหนังสือให้เกิดขึ้นในประเทศไทย สร้างระบบหนังสือและระบบความรู้ให้ประชาชนในประเทศได้มีโอกาสเข้าถึงอย่างเสมอภาค ส่งเสริมให้คนในชาติเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมหนังสือ

จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเกิดขึ้นในประเทศไทย มูลนิธิวิชาหนังสือ จึงยินดีร่วมมือกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถาบันไทยศึกษา เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือของประเทศไทย โดยร่วมมือกันจัดทำแผนพัฒนาวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือของประเทศไทย ให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงหนังสือและการอ่านหนังสือ รวมทั้งสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ส่งเสริมพื้นฐานของวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือของประเทศ ร่วมกันเผยแพร่และประกาศนโยบาย ‘หนังสือคือวัฒนธรรมของชาติ’ รณรงค์เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง และตระหนักถึงความสำคัญของวัฒนธรรมหนังสือ รวมถึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือทุกรูปแบบ เพื่อการพัฒนาตนเองของเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป อันสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ

จากนั้น ศ.ดร.จักรพันธุ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงบทบาทและแนวทางความร่วมมือของสถาบันการศึกษาว่า ภายใต้วิสัยทัศน์ “ผู้นำการสร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อสร้างเสริมสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพันธกิจในสร้างและพัฒนาคน สร้างวัฒนธรรม  การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพิ่มความร่วมมือในสังคม รัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยตระหนักว่า การพัฒนาคุณภาพของคนไทยให้สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ จำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมหนังสือ เพื่อสร้างคุณภาพคนไทยให้มีความรู้และจินตนาการที่ทันยุคสมัยพร้อมจะแข่งขันในเวทีโลก เนื่องด้วยการอ่านสร้างองค์ความรู้ นำไปสู่การคิดต่อยอด การพัฒนา และนำไปสู่ การเปลี่ยนแปลง หนังสือสามารถสร้างคุณภาพคนและสร้างพื้นฐานที่ดีของชาติได้ แม้ในยุคสมัยปัจจุบันบทบาทของหนังสือ สิ่งพิมพ์ จะลดลงไป

แต่การอ่านยังคงเป็นปัจจัยสำคัญและเป็นกลไกในการขับเคลื่อนพัฒนาการของสังคมไม่ด้อยไปกว่าในอดีต ดังนั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงมีความยินดีที่จะให้การสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือของประเทศไทย งานวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จมหาวิทยาลัย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือการส่งเสริมวัฒนธรรมหนังสือ และระบบหนังสือของประเทศไทยในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นและส่งผลกระทบในวงกว้างให้วัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือเกิดขึ้นอย่างแท้จริงในสังคมไทยต่อไป

การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ของทั้ง 3 หน่วยงาน นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเพราะเป็นการร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่พร้อมจะขับเคลื่อนให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้และการส่งเสริวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือของประเทศไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม