สธ. จับมือ ศธ. ร่วมคุมเข้มสถานศึกษา ใช้ 6 หลัก 6 เสริม สกัดโควิด-19

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่คุมเข้มโรงเรียน ขับเคลื่อนการพัฒนาด้านสุขภาพนักเรียนตามแนววิถีชีวิตใหม่แบบบูรณาการ ปี 2564 เพื่อเสริมพลังความมั่นใจและสร้างขวัญกำลังใจให้กับสถานศึกษาให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างถูกต้อง ห่างไกลจากโควิด-19

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 นางสุพัชรี ธรรมเพชร ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยภายหลังเป็นประธานขับเคลื่อนการพัฒนาด้านสุขภาพนักเรียนตามแนววิถีชีวิตใหม่ (New Normal) “เสริมพลังสร้างความเชื่อมั่นตามมาตรการยกระดับความปลอดภัย มั่นใจสุขอนามัยไร้โควิด-19 ในสถานศึกษา” ณ โรงเรียน ทวีธาภิเศก กรุงเทพมหานคร ว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญต่อมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 ของสถานศึกษา เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด โดยขอความร่วมมือจากผู้ปกครอง ครู และเด็กนักเรียน ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้ 6 มาตรการหลัก ได้แก่

1) เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร

2) สวมหน้ากากตลอดเวลาที่อยู่ในสถานศึกษา

3) ล้างมือด้วยสบู่และน้ำนาน 20 วินาที หรือใช้เจลแอลกอฮอล์

4) คัดกรองวัดไข้ สังเกตอาการ ซักประวัติผู้สัมผัสเสี่ยงทุกคนก่อนเข้าสถานศึกษา

5) ลดการแออัด ลดเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง กลุ่มคนจำนวนมาก

6) ทำความสะอาดบริเวณพื้นผิวสัมผัสร่วม อาทิ ที่จับประตู ลูกบิดประตู ราวบันได เป็นต้น

นอกจากนี้ได้กำหนด 6 มาตรการเสริม เพื่อความปลอดภัยในการป้องกันโรคโควิด-19 ดังนี้     

1) ดูแลตนเองปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด

2) ใช้ช้อนกลางส่วนตัวเมื่อต้องกินอาหารร่วมกัน

3) กินอาหารปรุงสุกใหม่ กรณีอาหารเก็บเกิน 2 ชั่วโมง ควรนำมาอุ่นให้ร้อนทั่วถึงก่อนกินอีกครั้ง

4) ไทยชนะ ลงทะเบียน ตามที่รัฐกำหนด ด้วยแอปพลิเคชันไทยชนะ หรือลงทะเบียนบันทึกการเข้า-ออกอย่างชัดเจน

5) สำรวจตรวจสอบ บุคคล นักเรียน และกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง

6) กักกันตัวเอง 14 วัน เมื่อเข้าไปสัมผัสหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาดโรค

ทางด้าน นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากรายงานผลการติดตามประเมินผลสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในสถานศึกษา พบว่า ผลกระทบจากการปิดภาคเรียนที่มีต่อตัวเด็กด้านพัฒนาการเด็กล่าช้ามากขึ้น เด็กอนุบาลเรียนออนไลน์ไม่ได้ เด็กในเมืองสั่งอาหารฟาสต์ฟู้ดมากขึ้น ร้อยละ 60 เด็กชนบทไม่ได้รับอาหารกลางวัน เด็กกลุ่มเปราะบางมีแนวโน้มไม่ได้เรียนต่อ

ส่วนผลกระทบต่อผู้ปกครองนั้น ไม่สามารถดูแลเด็กได้เต็มที่ ครอบครัวไม่พร้อมต่อการเรียนออนไลน์ และสำหรับผลกระทบต่อครูหรือโรงเรียนพบว่า ครูมีความเครียดมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มกับระบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงไป จากปัญหาที่พบจึงควรยึดปฏิบัติ ตาม 6 มาตรการหลัก และ 6 มาตรการเสริม เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ และ มีความปลอดภัยทางด้านร่างกายและจิตใจทั้งต่อผู้ปกครอง บุคลากรการศึกษา และเด็กนักเรียน เพื่อสุขอนามัยส่วนรวมและห่างไกลจากโควิด-19