ที่ปรึกษา ‘รมว.แรงงาน’ ขึ้นเหนือ ติดตาม ขับเคลื่อนนโยบาย 3A เขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก

นางสาวอนุสรี ทับสุวรรณ ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ลงพื้นที่ อ.แม่สอด เยี่ยมสถานประกอบกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป พร้อมประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ติดตามการขับเคลื่อนนโยบาย 3 A และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการ พบมีอัตราว่างงานเพียง 0.32 ขณะที่จังหวัดตากมีแรงงานต่างด้าวกว่า 80,000 คน  ด้านผู้ประกอบการขอให้ขยายเวลาการทำงานแรงงานต่างด้าว ม.64 เป็น 90 วัน

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2561 นางสาวอนุสรี ทับสุวรรณ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติงานกระทรวงแรงงาน (ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน) พร้อมด้วย นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน และคณะ ลงพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เยี่ยมแรงงานบริษัทที.เค.การ์เม้นท์ แม่สอด จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 403-403/1 หมู่ 3 ต.แม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งประกอบกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีพนักงานจำนวน 1,444 คน เป็นคนไทย 246 คน แรงงานต่างด้าว 1,198 คน เป็นเมียนมา 1,196 คน ลาว 2 คน  โดย นางสาวอนุสรีฯ และคณะร่วมรับฟังบรรยายสรุปข้อมูลบริษัทฯ และการจ้างแรงงานต่างด้าว โดยมี นายชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ ประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก และผู้ประกอบการ ร่วมประชุม

ในโอกาสนี้ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตากและผู้ประกอบการ ได้เสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการทำงานของแรงงานต่างด้าวว่า ขอให้ขยายระยะเวลาการทำงานของแรงงานต่างด้าวตามมาตรา 64 (เข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับหรือตามฤดูกาล) เพิ่มขึ้นเป็น 90 วัน  ขอเพิ่มพื้นที่การเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวจากเดิมจังหวัดเมียวดีเพียงจังหวัดเดียวเป็นจังหวัดอื่นๆ ได้ด้วย ขอให้แรงงานต่างด้าวตรวจโรคที่ชายแดนก่อนที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย นอกจากนี้ หากมีการนำเสนอให้แรงงานตามมาตรา 64 เข้าระบบประกันสังคม ขอให้พิจารณาถึงผลกระทบต่อผู้ประกอบการด้วย และขอให้กระทรวงแรงงานบูรณาการร่วมกับสถานศึกษา เปิดโอกาสให้กับผู้ที่จบปริญญาตรี และมีประสบการณ์ในการทำงาน สามารถเข้ารับการฝึกอบรม จป.วิขาขีพได้ ซึ่งกระทรวงแรงงานรับข้อเสนอดังกล่าว และจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ต่อมา นางสาวอนุสรีฯ และคณะ รับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานปีงบประมาณ พ.ศ.2561 และแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ตามนโยบายเน้นหนักของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (13+4+7) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ณ ห้องประชุมบริษัทที.เค.การ์เม้นท์ แม่สอด จำกัด โดยมี หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดตาก ร่วมประชุม

นางสาวอนุสรีฯ กล่าวว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบนโยบายเน้นหนักกระทรวงแรงงาน (13+4+7) ในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 โดยได้กำชับให้ส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดตากดำเนินการขับเคลื่อนตามนโยบาย (3A) ซึ่งประกอบด้วย นโยบายเร่งด่วน (Agenda Based) 13 นโยบาย อาทิ ยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ (Super worker) พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขต EEC ส่งเสริมการมีงานทำและยกระดับคุณ ภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ และส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำ มีอาชีพ ส่งเสริมให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้อง ป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานไทยถูกหลอกลวงและลักลอบไปทำงานต่างประเทศ ขับเคลื่อน Safety Thailand พัฒนาและปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทางประกันสังคม เป็นต้น นโยบายระดับพื้นที่ (Area Based) 4 นโยบาย และนโยบายบริหารการพัฒนา (Administration Based) 7 นโยบาย โดยให้แรงงานจังหวัดเป็นเจ้าภาพหลักในการตั้งต้นจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ให้เป็นรูปธรรมและบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมทั้งให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในพื้นที่ บูรณาการการดำเนินงานร่วมกันและเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงาน ทั้งหน่วยงานภายใน และหน่วยงานภายนอก รวมทั้งเครือข่ายแรงงานในพื้นที่ในรูปแบบประชารัฐ และมีแผนปฏิบัติการร่วมกันในลักษณะ One Plan เพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายเน้นหนักของกระทรวงสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ และเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้

ด้านนางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงสถานการณ์ด้านแรงงานของจังหวัดตากว่า ปัจจุบันจังหวัดตากมีประชากรรวม 651,714 คน มีผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 257,733 คน เป็นผู้มีงานทำ 256,006 คน คิดเป็นร้อยละ 99.33 ผู้ว่างงาน 822 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.32 ผู้รอฤดูกาล 905 คน มีสถานประกอบการ 1,877 แห่ง ลูกจ้าง 43,793 คน โดยสถานประกอบกิจการและลูกจ้างส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอแม่สอด ขณะที่มีแรงงานต่างด้าว จำนวนทั้งสิ้น 81,253 คน แบ่งเป็นคนต่างด้าวประเภทต่างๆ คือ ทั่วไป จำนวน 673 คน ส่งเสริมการลงทุน (BOI) จำนวน 99 คน ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 25,780 คน นำเข้าตามระบบ MOU จำนวน 6,265 คน มาตรา 64 (เข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับหรือตามฤดูกาล) จำนวน 46,489 คน ชนกลุ่มน้อย จำนวน 1,947 คน สำหรับในส่วนของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) มีจำนวนทั้งสิ้น 78,534 คน ส่วนใหญ่เป็นสัญชาติเมียนมา 78,239 คน รองลงมาเป็นกัมพูชา 236 คน และลาว 59 คน โดยส่วนใหญ่ทำงานในกิจการด้านสิ่งทอและการเกษตร