สคบ. แก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนสายการบินช่วงโควิด-19

ตามที่ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำชับให้ สคบ. ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคที่มีความประสงค์ขอเงินคืนอันเนื่องมาจากถูกยกเลิกเที่ยวบิน หรือมีการแจ้งเลื่อนการเดินทางจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเร่งด่วนและสื่อสารความคืบหน้าให้ผู้บริโภคทราบอย่างต่อเนื่อง นั้น

นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะโฆษก สคบ. ได้เปิดเผยว่า สคบ. ได้มีการแก้ไขปัญหาการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับสายการบินช่วงโควิด-19 ตั้งแต่กลางปี 2563 ถึงปัจจุบัน ที่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้บริโภคมีรายละเอียด ดังนี้     

1.สถิติข้อมูล

1.1) รับเรื่องร้องเรียน จำนวน 3,560 ราย จำแนกเป็นสายการบิน ดังนี้

w สายการบินนกสกู๊ต                   800 ราย

w สายการบินแอร์เอเชีย                700 ราย

w สายการบินแอร์เอเชียเอ็กซ์         600 ราย

w สายการบินนกแอร์                   500 ราย

w สายการบินไทยเวียตเจ็ท               448 ราย

w สายการบินไทยไลอ้อนแอร์            352 ราย

w สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์        100 ราย

w สายการบินการบินไทย                   60 ราย

1.2)  แก้ไขปัญหาสำเร็จ (ชั้นไกล่เกลี่ย) จำนวน 575 ราย เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 7,500,000 บาท

1.3)  สคบ. เสนอคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีมติดำเนินคดีแพ่ง จำนวน 1,625 ราย เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 19,500,000 บาท

1.4)  สคบ. ได้ประชาสัมพันธ์/แจ้งให้ผู้บริโภคไปดำเนินการขอเฉลี่ยทรัพย์ในกระบวนการล้มละลาย / ฟื้นฟูกิจการต่อกรมบังคับคดี จำนวน 1,360 ราย เรียบร้อยแล้ว

สคบ. ได้ดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยสำเร็จและมีมติให้ดำเนินคดีแพ่งแทนผู้บริโภค คิดเป็นร้อยละ 61.79 ของจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งหมด นอกจากนั้น สคบ. ยังได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์แจ้งให้ผู้บริโภคไปดำเนินการขอเฉลี่ยทรัพย์คืนในกระบวนการล้มละลาย/ฟื้นฟูกิจการต่อกรมบังคับคดี คิดเป็นร้อยละ 38.21  

2.ผู้ประกอบธุรกิจสายการบินที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของ บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด ซึ่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีหมายเลขแดงที่ ล.5781/2563 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ผู้บริโภคสามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันที่โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 23 ธันวาคม 2563) ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน

3.ผู้ประกอบธุรกิจสายการบินที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ได้แก่

3.1) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนฯ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 และโฆษณาคำสั่งฯ ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563

3.2) บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนฯ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 และโฆษณาคำสั่งฯ ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563

ผู้บริโภคสามารถขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดีหรือสำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนฯ

4.ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภค

4.1) ผู้บริโภครายใดที่ใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อกรมบังคับคดีหรือสำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศไว้แล้ว สามารถติดตามความคืบหน้าหรือสอบถามข้อมูลได้ที่ กรมบังคับคดี หมายเลขโทรศัพท์ 02-881-4999 (อัตโนมัติ 20 คู่สาย) เว็บไซต์ www.led.go.th และสายด่วน 1111 ต่อ 79

4.2) ผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้บริการสายการบิน ซึ่งมีที่ตั้งในประเทศหรือสายการบินที่มีที่ตั้งอยู่ต่างประเทศและมีสำนักงานหรือตัวแทนอยู่ในประเทศไทยที่ไม่ได้ถูกศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือให้ฟื้นฟูกิจการ สามารถร้องเรียนได้ที่ช่องทางร้องทุกข์และติดตามสถานะตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ระบบร้องทุกข์ผู้บริโภค เว็บไซต์ https://complaint.ocpb.go.th หรือ Mobile App “OCPB Connect”

…………………………