GISTDA ใช้ GEMS เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการมลพิษทางอากาศ

GEMS หรือ Geostationary Environment Monitoring Spectrometer เป็นอุปกรณ์ตรวจวัดที่ติดตั้งบนดาวเทียม KOMPSAT-2B ซึ่งเป็นดาวเทียมของสาธารณรัฐเกาหลี พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือบันทึก วิเคราะห์ และติดตามปริมาณก๊าซที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมบนโลกอย่างต่อเนื่องและรายละเอียดข้อมูลที่ดีขึ้น อาทิ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ ก๊าซโอโซน และอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5, PM10) โดยดาวเทียม KOMPSAT-2B ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า KOMPSAT-2B มีวงโคจรแบบ geostationary หรือวงโคจรแบบดาวเทียมค้างฟ้าบนความสูงประมาณ 35,786 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ซึ่งหมายถึงดาวเทียมมีการโคจรด้วยความเร็วคงที่และเท่ากับการหมุนของโลก ทำให้ดาวเทียมจะอยู่เหนือตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งบนโลกตลอดเวลา ซึ่งคุณสมบัตินี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศรายชั่วโมงบนโลกได้อย่างต่อเนื่อง ณ บริเวณภูมิภาคนั้นๆ จึงนับได้ว่า GEMS เป็นเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศตัวแรกของโลกที่ติดตั้งบนดาวเทียมแบบ geostationary ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่าง 3 องค์กรใหญ่คือ Korea Aerospace Research Institute (KARI), NASA และ ESA ที่มุ่งมั่นประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนบนโลก จึงร่วมมือกันพัฒนาเซนเซอร์ตรวจวัดสภาพอากาศที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ เพื่อให้ได้อุปกรณ์ตรวจวัดที่ตอบโจทย์กับความต้องการในปัจจุบัน และให้มีข้อมูลที่เพียงพอต่อการวิเคราะห์และวางแผนรับมือได้ทันสถานการณ์แบบรายวันหรือรายชั่วโมง รวมทั้งครอบคลุมพื้นที่ซีกโลกเหนือหรือพื้นที่ที่ประชากรโลกอาศัยเป็นส่วนมาก ซึ่งตามแผนการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ทั้ง 3 องค์กรด้านอวกาศระดับโลกจะทำงานร่วมกันในส่วนต่างๆของโลก จะแบ่งเป็น KARI รับผิดชอบพัฒนาเซนเซอร์ GEMS ติดตั้งบนดาวเทียม KOMPSAT-2B จะโคจรเหนือภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค ส่วน NASA พัฒนาเซนเซอร์ TEMPO ติดตั้งบนดาวเทียม Intelsat 40e ซึ่งมีกำหนดส่งขึ้นสู่วงในปี ค.ศ. 2022 และจะโคจรเหนือทวีปอเมริกา และสุดท้าย ESA รับผิดชอบพัฒนาเซนเซอร์ติดตั้งบนดาวเทียม Sentinel-4 เพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศในภูมิภาคกลุ่มประเทศยุโรป

“ปัจจุบัน GEMS เป็นเซนเซอร์แรกภายใต้โครงการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรแล้ว ซึ่งในอนาคตอันใกล้หลังจากที่ทีมได้ตรวจสอบคุณภาพข้อมูลเป็นที่เรียบร้อย จะทำให้เรามีข้อมูลเพียงพอในการติดตามสภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียได้ในระดับรายชั่วโมงของช่วงเวลากลางวัน และมีรายละเอียดข้อมูลภาพที่ดีกว่าเดิม” ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากเซนเซอร์ GEMS กำลังจะถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศร่วมกับข้อมูลจากระบบ MODIS (ดาวเทียม Terra และ Aqua) ระบบ VIIRS (ดาวเทียม Suomi-NPP) ดาวเทียมฮิมาวาริ (Himawari) และดาวเทียมอื่นๆ ของระบบการติดตามปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทาง GISTDA ได้วิเคราะห์และเผยแพร่มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศเพื่อจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษพร้อมติดตั้งเครื่องมือเพื่อติดตามสภาวะคุณภาพอากาศในประเทศไทย ระหว่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย GISTDA กับ สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สาธารณรัฐเกาหลี (National Institute of Environmental Research: NIER) ในการนำข้อมูลจากเซนเซอร์ GEMS มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องนี้ไปแล้ว เมื่อวันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา โดยจะเริ่มติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดทางพื้นดินที่กรุงเทพฯ ปทุมธานี เชียงใหม่ และสงขลาในเดือนมีนาคม 2564 และเริ่มทดสอบข้อมูลตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป เพื่อร่วมกันพัฒนาและใช้ประโยชน์ในการติดตามตรวจวัดมลภาวะทางอากาศได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ เพื่อให้มีมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็น 1 ในภารกิจสำคัญภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเกาหลีอย่างเป็นทางการ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศต่างเห็นพ้องต้องกันที่จะขยายความสำเร็จจากความร่วมมือนี้ไปสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนและปลอดภัยของประชาชนในภูมิภาคในอนาคต

ข้อมูลจากเซนเซอร์ GEMS นอกจากจะทำให้เราเข้าใจปัญหาการแพร่ของก๊าซและฝุ่นละอองมากขึ้น นำไปสู่การคาดการณ์และรับมืออย่างถูกวิธีในอนาคต ประโยชน์ทางอ้อมยังช่วยลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจและยกระดับการพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เพื่อการเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติและปัญหามลพิษได้อย่างแม่นยำมากขึ้น จึงนับว่าเป็นก้าวที่สำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อมนุษยชาติที่แท้จริงอีกครั้งหนึ่ง ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว

…………………………….