พก. เปิดโครงการ “ปั้นฝันเติมรักเพื่อคนพิการ” พัฒนาทักษะเบเกอรี่ช่วงเดือนแห่งความรัก ส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้คนพิการ

วันที่ 10 ก.พ. 64 เวลา 14.00 น. นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการภายใต้โครงการ “ปั้นฝันเติมรักเพื่อคนพิการ” เพื่อส่งเสริมให้คนพิการ มีทักษะสามารถประกอบอาชีพ พร้อมพัฒนาอาหารให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และมีรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและส่งเสริมสนับสนุนให้คนพิการได้มีสิทธิและโอกาสทางด้านอาชีพ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมสินค้าของคนพิการ เพื่อเป็นของขวัญในเดือนแห่งความรัก เพิ่มรายได้และอาชีพให้กับคนพิการ พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกระทรวง พม. สมาคมคนพิการ คนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมอบรม ณ อาคารฝึกอบรมศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APCD) ถนนราชวิถี กรุงเทพฯ

นางสาวสราญภัทร กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID – 19 คนพิการ และครอบครัวคนพิการเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูคนพิการและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาล จึงมีนโยบายในการสนับสนุนและส่งเสริมอาชีพคนพิการที่หลากหลายเพื่อให้มีรายได้และสามารถเลี้ยงดูตนเองได้

นอกจากนี้ คนพิการที่ต้องการประกอบอาชีพยังสามารถกู้ยืมเงินฯ จากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อนำไปเป็นทุนในการประกอบอาชีพได้ สำหรับกิจกรรมในวันนี้เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ร่วมกับศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APCD) โดยร้าน 60+ plus bakery & café และองค์กรคนพิการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพด้านการทำเบเกอรี่ และช็อกโกแลต ในช่วงเดือนแห่งความรัก เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้กับคนพิการและครอบครัวในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้กับครอบครัว กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยครอบครัวคนพิการ จำนวน 15 ครอบครัว 30 คน

 

นางสาวสราญภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับหลักสูตรการอบรมประกอบด้วย วิธีเรียนทำบราวนี่ และช็อกโกแลต โดยเป็นการต่อยอดจากโครงการฝึกอบรมพัฒนาทักษะด้านอาชีพของคนพิการหลักสูตรการพัฒนา ทักษะการทำเบเกอรี่ ขนมไทย และการทำเครื่องตกแต่งเบเกอรี่ ซึ่งถือว่าเป็นการส่งเสริมให้คนพิการมีทักษะสามารถประกอบอาชีพ พร้อมพัฒนาอาหารให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และส่งเสริมสนับสนุนให้คนพิการได้มีสิทธิและโอกาสทางด้านอาชีพ ส่งเสริมสินค้าของคนพิการ เพื่อเป็นของขวัญในเดือนแห่งความรัก เพิ่มรายได้และอาชีพให้กับคนพิการ รวมถึงเป็นการสร้างและปรับเปลี่ยนเจตคติของสังคมที่มีต่อคนพิการต่อไป

#######################