อากาศแห้งแล้งให้ระวัง 3 หนอนถั่วเขียว

สภาพอากาศแห้งแล้งช่วงนี้ กลางวันอุณหภูมิสูง ส่วนกลางคืนอุณหภูมิต่ำ กรมวิชาการเกษตร เตือนให้เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเขียวเฝ้าระวังการระบาดของ 3 แมลงศัตรูพืช คือ หนอนแมลงวันเจาะลำต้นถั่ว หนอนกระทู้ผัก และหนอนม้วนใบ โดยจะพบการเข้าทำลายในระยะต้นกล้าถึงระยะออกดอก สำหรับหนอนแมลงวันเจาะลำต้นถั่ว มักพบตัวหนอนฟักออกมาจากไข่ชอนไชตามเส้นใบไปที่ก้านใบ เพื่อเข้าไปกัดกินเนื้อเยื่อของลำต้นที่บริเวณไส้กลางลำต้น การเข้าทำลายของหนอนแมลงวันเจาะลำต้นถั่ว ส่งผลทำให้ผลผลิตถั่วเขียวลดลงมากกว่า 50%

แนวทางการป้องกันการระบาดของหนอนแมลงวันเจาะลำต้นถั่ว ให้เกษตรกรคลุกเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวก่อนทำการเพาะปลูกด้วยสารฆ่าแมลงอิมิดาโคลพริด 70% ดับเบิ้ลยูเอส อัตรา 2 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม หรือให้พ่นครั้งแรกเมื่อใบจริงคู่แรกคลี่เต็มที่ หรือพ่นเมื่อต้นถั่วเขียวอายุประมาณ 7-10 วันหลังงอก โดยพ่นด้วยสารฆ่าแมลงไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน

ส่วนหนอนกระทู้ผัก มักพบหนอนที่ฟักออกมาจากไข่ใหม่ๆ อยู่รวมกันเป็นกลุ่มแทะผิวใบด้านล่าง โดยหนอนจะกัดกินจากขอบใบเข้าไป ทำให้เหลือแต่ผิวใบด้านบนจนมองเห็นใบโปร่งใสคล้ายร่างแห เมื่อหนอนโตขึ้นจะแยกกลุ่มออกไปกัดกินใบทั่วทั้งแปลง ส่งผลทำให้ผลผลิตถั่วเขียวลดลง หากพบการระบาด ให้เกษตรกรพ่นเชื้อไวรัสของหนอนกระทู้ผัก อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่น 1-2 ครั้ง กรณีที่พบใบถูกทำลาย 30% ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอร์ฟลูอาซูรอน 5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

นอกจากนี้ เกษตรกรต้องเฝ้าระวังหนอนม้วนใบ จะพบหนอนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆ อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และชักใยบางคลุมตัวไว้แล้วกัดกินผิวใบ เมื่อหนอนโตขึ้นจะกระจายกันออกไปหาใบหรือชักใยดึงเอาใบหลายๆ ใบมาห่อรวมกัน และอาศัยกัดกินอยู่ภายในใบที่ม้วนนั้นจนหมด จากนั้นจะเคลื่อนย้ายไปทำลายใบอื่นต่อไป หากพบใบถูกทำลาย 30% ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงอินดอกซาคาร์บ 15% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเมทอกซีฟีโนไซด์ 24% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารลูเฟนนูรอน 5% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

…………………………….

อังคณา  ว่องประสพสุข : ข่าว

กุมภาพันธ์ 2564