กรมเจ้าท่า ขุดลอกแม่น้ำป่าสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง เพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ พร้อมฟื้นฟูสภาพแม่น้ำที่ตื้นเขิน

นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่า โดยสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 2ได้เปิดหน่วยขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำภายในประเทศ แม่น้ำป่าสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ให้สามารถใช้ร่องน้ำได้อย่างสะดวกและปลอดภัย สำหรับแม่น้ำป่าสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นแม่น้ำสายหลักมีต้นน้ำอยู่บริเวณเทือกเขาตอนบนในเขตจังหวัดเลย ซึ่งไหลจากทิศเหนือลงสู่ทางใต้ โดยไหลผ่านพื้นที่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดลพบุรี ลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และไหลผ่านจังหวัดสระบุรีสู่เขื่อนทดน้ำพระราม 6

ไหลบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ 700 กิโลเมตร ถือเป็นแม่น้ำสายสำคัญทางเศรษฐกิจ มีลำน้ำสาขาแยกไปทางตะวันตกและตะวันออก แต่ลำน้ำสาขาส่วนใหญ่จะสั้นและมีพื้นที่รับน้ำขนาดเล็ก กรมเจ้าท่าจึง ได้เปิดหน่วยปฏิบัติงานขุดลอกแม่น้ำป่าสัก ตำบลหล่มสัก ตำบลตาลเดี่ยว อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยใช้รถขุด นว.4 นว.6 เป็นเครื่องจักรปฏิบัติงาน มีนายสุภเนตร เล็กสิงห์โต ปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าหน่วยขุดลอกซึ่งพื้นที่ขุดลอกมีความกว้างก้นร่องน้ำ 10 เมตร ความยาว 5,400 เมตรและระดับความลึกก้นร่องน้ำตามแผนขุดลอก 138 เมตร (MSL) ซึ่งจะมีปริมาณเนื้อดินที่ได้จากการขุดลอก จำนวน 90,961 ลบ.ม. โดยจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการทั้งสิ้น 110 วัน ทำการเปิดหน่วยปฏิบัติงานฯ ไปเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา มีความคืบหน้าผลการปฏิบัติงาน ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 คิดเป็น 5.92%

ทั้งนี้ หากดำเนินการขุดลอกแล้วเสร็จ จะเป็นการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ตำบลหล่มสักและ ตำบลตาลเดี่ยว จังหวัดเพชรบูรณ์ ไม่ให้เกิดปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง แม่น้ำตื้นเขิน ทั้งการขุดลอกยังช่วยกำจัดวัชพืชในแม่น้ำป่าสัก ถือเป็นการรักษาสภาพแม่น้ำให้มีความสมบูรณ์ เพิ่มพื้นที่ในการรองรับน้ำฝน และเพิ่มประสิทธิภาพในการเร่งระบายน้ำ เปิดทางน้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งกรมเจ้าท่าเล็งเห็นความสำคัญในการทำเพื่อประชาชนในพื้นที่ให้ได้รับประโยชน์จากการขุดลอกในครั้งนี้มากที่สุด

#เจ้าท่าคือผู้ดูแลร่องน้ำทางเรือเดิน #ภารกิจเหนือสิ่งอื่นใด #กรมเจ้าท่าเพื่อประชาชน

__________________________