กรมฝนหลวงฯ และองค์การอุตุนิยมวิทยาแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สร้างเครือข่ายด้านการดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ สำหรับการทำฝนหลวงที่มีประสิทธิภาพ แม่นยำ และรวดเร็ว

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แห่งราชอาณาจักรไทย และสถาบันอุตุนิยมวิทยาศาสตร์ (Chinese Academy of Meteorological Science: CAMS) ภายใต้สังกัดองค์การอุตุนิยมวิทยา แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (China Meteorological Administration: CMA) ลงนามข้อตกลงทางวิชาการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ ผ่านการประชุมเสมือนจริง (Virtual Conference) เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาในการเพิ่มประสิทธิภาพการดัดแปรสภาพอากาศสำหรับการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวน อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองประเทศในอนาคต

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ดร. ต้วน อี้หง (Dr. DUAN Yihong) ผู้อำนวยการสถาบันอุตุนิยมวิทยาศาสตร์ องค์การอุตุนิยมวิทยาแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ ผ่านการประชุมเสมือนจริง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน เครื่องมือ เทคโนโลยี และบุคลากร รวมทั้งร่วมกันวิจัยในการเพิ่มประสิทธิภาพการดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อบรรเทา
ความเสียหายจากภัยแล้งและภัยพิบัติทางธรรมชาติ และมีขอบเขตความร่วมมือด้วยการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและประสบการณ์ด้านการดัดแปรสภาพอากาศ การสร้างเสริมศักยภาพในรูปแบบการศึกษา ฝึกอบรมและวิจัยร่วมกัน ภายใต้กรอบระยะเวลาความร่วมมือ 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568

สำหรับความร่วมมือด้านการดัดแปรสภาพอากาศระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2561 เมื่อสถาบันอุตุนิยมวิทยาแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุม ASEAN Workshop on Weather Modification 2018 ณ ประเทศไทย และเจ้าหน้าที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เดินทางไปศึกษาดูงานด้านการทำฝน ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีการปฏิบัติการทำฝนและยับยั้งพายุลูกเห็บโดยใช้อากาศยาน จรวด ปืนใหญ่ และการใช้ควันจากการเผาสารทำฝน จากภาคพื้นดิน (Ground-based generator) รวมทั้ง ในปี พ.ศ. 2562 กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เชิญวิทยากรจากสถาบันอุตุนิยมวิทยา สาธารณรัฐประชาชนจีน มาถ่ายทอดความรู้ในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ASEAN Training on Weather Modification 2019 ณ ประเทศไทย โดยทั้งสองฝ่ายตกลงจะดำเนินความร่วมมือและจัดทำร่างข้อตกลงทางวิชาการว่าด้วยการดัดแปรสภาพอากาศ (Cooperation Agreement) ซึ่งต่อมาได้ ผ่านความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการต่างประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวทิ้งท้ายว่า การดำเนินความร่วมมือดังกล่าวเป็นไปตามแผนปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ ระยะ 20 ปี ด้านที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพการดัดแปรสภาพอากาศ โดยกรมฝนหลวงฯ จำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีทางเลือกอื่น ๆ (Alternative technology) เช่น การทำฝนโดยใช้จรวด และการพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ มาช่วยเสริมการใช้เครื่องบินที่มีข้อจำกัด เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้ทันสมัย ทันต่อสถานการณ์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ฝนหลวงพระราชทานภายในปี 2580

*******************************