โฆษกยุติธรรม โต้คอมเมนต์เฟซบุ๊กยัน รมว.ไม่มีอำนาจสั่งศาลปล่อยตัวแกนนำม็อบ ชี้เป็นแค่ปลายน้ำต้องทำตามคำสั่ง

นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดและโฆษกกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีเพจเฟซบุ๊ก ลุงตู่อยู่เป็นนายกต่อ มีการคอมเมนต์ข้อความที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทำให้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้รับความเสื่อมเสีย โดยมีใจความในลักษณะ เข้าใจผิดว่ากระทรวงยุติธรรม สามารถสั่งกระบวนการศาลให้ปล่อยแกนนำทางการเมืองได้ รวมถึงมีการเข้าไปให้กำลังใจในเรือนจำ เรื่องนี้ตนขอชี้แจงว่า เดิมศาลยุติธรรมเป็นหน่วยงานเดียวกับกระทรวงยุติธรรม ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2543 สำนักงานศาลยุติธรรมได้แยกออกเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การพิจารณาดำเนินการคดีต่างๆ รวมถึงการดำเนินการพิจารณาคดีอาญาย่อมอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาล กระทรวงยุติธรรมจะมีบทบาทดำเนินการบังคับตามคำพิพากษาของศาล โดยขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา ไม่ว่าจะเป็นการออกหมายจับ จึงเป็นกรณีที่ตำรวจจะต้องไปขออำนาจศาลดำเนินการทั้งสิ้น เมื่อผู้ถูกจับอยู่ในการควบคุมของตำรวจแล้ว จะนำตัวมาส่งศาล การสั่งให้ควบคุมตัวระหว่างดำเนินคดีอยู่ในอำนาจของศาลเช่นกันโดยบุคคลเหล่านี้จะอยู่ในการควบคุมดูแลของเรือนจำหากไม่ได้รับการปล่อยตัว ทั้งนี้ การจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวบุคคลเหล่านี้หรือไม่ ย่อมเป็นอำนาจของศาลในการพิจารณามีคำสั่ง

“รมว.ยุติธรรม ไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ ในการสั่งปล่อยตัวชั่วคราวบุคคลเหล่านั้นได้ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยศาลจะมีหมายปล่อยไปยังเรือนจำที่ควบคุมตัวบุคคลเหล่านี้ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย หากบุคคลเหล่านี้ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวทางกรมราชทัณฑ์มีมาตรการควบคุมตัวในระหว่างการสอบสวนดำเนินคดีเป็นไปตามมาตรฐานสากล ไม่มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม กรณีหากพบว่ามีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายบุคคลเหล่านี้ย่อมใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลพิจารณาตรวจสอบถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งสามารถให้ทนายความดำเนินการดังกล่าวแทนได้”

นายวัลลภ กล่าวอีกว่า การโจมตีเรื่องการเข้าไปเยี่ยมแกนนำม็อบในเรือนจำนั้น นายสมศักดิ์ได้ชี้แจงไปแล้วเมื่อวันที่ 26 ต.ค.2563 ว่าการเข้าไปในวันนั้น เพื่อดูความเรียบร้อย เพราะเวลานั้นมีการชุมนุมหน้าบริเวณเรือนจำพิเศษกรุงเทพ จึงสำรวจร่องรอยความเสียหาย หรือต้องซ่อมแซมอะไรหรือไม่ จึงถือโอกาสเข้าไปตรวจเยี่ยมในเรือนจำ เข้าไปดูว่าเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนหรือไม่เท่านั้น กระทรวงยุติธรรมเป็นกระทรวงปลายน้ำ กำกับดูแลกรมราชทัณฑ์ สิ่งที่ทำได้ดีที่สุด คือการดูแลผู้ต้องขังไม่ให้ถูกทำร้ายภายในเรือนจำ ดูแลผู้ต้องขังทุกคนตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ยึดมั่นในความถูกต้อง ไม่ว่าจะฝ่ายไหนหรือคดีอะไรก็ตาม