กรมอนามัย จับมือ ธนาคารแห่งประเทศไทย เครือข่ายธนาคารต่าง ๆ ชวนคนไทยใช้ e – อั่งเปาแทนธนบัตรช่วงตรุษจีน

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทยและเครือข่ายธนาคารต่าง ๆ ชวนประชาชน มอบ e – อั่งเปา แทนการให้เงินสดในช่วงเทศกาลตรุษจีน เพื่อลดการสัมผัสเหรียญ ธนบัตร และซองอั่งเปา ลดการแพร่กระจายเชื้อโควิด – 19

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานแถลงข่าว “ตรุษจีนนี้ ธนาคารร่วมใจ พัฒนา e – อั่งเปา” ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และเครือข่ายธนาคารต่าง ๆ ณ บริเวณห้องโถงอาคาร 1 ชั้น 1 กรมอนามัย ว่า ตามประเพณีในวันตรุษจีนมักนิยมแจกอั่งเปาหรือเงินขวัญถุงให้แก่คนในครอบครัว ญาติ และลูกจ้างพนักงานผ่านเหรียญ ธนบัตร หรือซองอั่งเปา อาจจะมีการแพร่เชื้อโรคผ่านการสัมผัสได้ ซึ่งข้อมูลจาก The New England Journal of Medicine พบว่า เชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) มีชีวิตอยู่ในละอองฝอยของการไอ จาม ได้นาน 3 ชั่วโมง เกาะอยู่บนธนบัตรได้นาน 4 วัน อยู่บนพลาสติกและโลหะได้นาน 7 วัน และจากผลการศึกษาของคณะนักวิทยาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ มีการระบุว่าบนธนบัตร1 ใบ จะมีเชื้อแบคทีเรียสะสมโดยเฉลี่ย 26,000 ตัว เนื่องมาจากการใช้ธนบัตรผ่านมือไปหลายต่อ ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้มีจำนวนมากพอที่จะทำให้คนทั่วไปเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้อีกด้วย

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยจึงร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และเครือข่ายธนาคารต่าง ๆ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ชวนคนไทยแจกอั่งเปาผ่านระบบ e – อั่งเปา ในช่วงเทศกาลตรุษจีน เพื่อลดหรือเลิกการให้อั่งเปาแบบเงินสด ปรับมามอบ อั่งเปาออนไลน์ หรือ e – อั่งเปาแทนโดยการจ่ายเงินผ่าน QR Code การจ่ายเงินผ่าน e – Wallet การโอนเงินผ่านแอพพลิเคชันของธนาคาร หรือแม้กระทั่งการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ โดยการใช้บริการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นการมอบความสะดวกสบายและความปลอดภัยเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส

“สำหรับผู้ที่ต้องซื้อของเซ่นไหว้ ก็สามารถจับจ่ายสินค้าผ่านทางออนไลน์ได้เช่นเดียวกัน เป็นการลดความแออัด เพิ่มสะดวกปลอดภัย ได้ของครบ และอาจจะได้ราคาที่ถูกกว่าประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปซื้อยังตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต อีกทั้งยังลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 และเมื่อได้รับสินค้าผู้ซื้อต้องสังเกตของเซ่นไหว้ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ว่าสี กลิ่น ผิดปกติหรือไม่ ส่วนคนรับและคนส่งสินค้าต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลังรับบริการ ก็จะช่วย ลดความเสี่ยงโควิด-19 ด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว