ชป.เดินหน้าก่อสร้าง 3 ปตร. หวังแก้ปัญหาภัยแล้งในแม่น้ำยม เมืองพิจิตร

กรมชลประทาน ชี้แจงกรณี แม่น้ำยมแห้งสนิทเหมือนทะลทราย ในพื้นที่ทั้ง 4 อำเภอของจังหวัดพิจิตร (สามง่าม โพธิ์ประทับข้าง บึงนาราง และโพทะเล) น้ำได้ลดลงและแห้งขอดเกือบตลอดลำน้ำจนเห็นผืนทรายในท้องแน้ำยม ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศ และเกษตรกร

นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 กรมชลประทาน เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงในพื้นที่ดังกล่าวว่า การทำการเกษตรริมแม่น้ำยม ส่วนใหญ่เป็นนาข้าวโดยอาศัยน้ำต้นทุนจากแม่น้ำยม – แม่น้ำสาขาเป็นหลัก ซึ่งมักจะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี เนื่องจากไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ทางตอนบน เกษตรกรจะแก้ไขปัญหาโดยการสูบน้ำจากบ่อตอกหรืบ่อบาดาลระดับตื้นเป็นแหล่งน้ำเสริมการเพาะปลูก ประกอบกับในช่วงฤดูฝนปี 2563 ที่ผ่านมา ในพื้นที่จังหวัดพิจิตร มีปริมาณฝนตกสะสมเฉลี่ยเพียง 692 มม. น้อยกว่าปริมาณฝนปกติ ถึงร้อยละ 33  ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเพาะปลูกเร็วกว่าทุกปี อีกทั้ง แม่น้ำยมยังไม่มีอาคารชลประทานขนาดใหญ่ สำหรับใช้กักเก็บน้ำ

กรมชลประทานไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางในการช่วยประชาชน ซึ่งในเบื้องต้นโครงการชลประทานพิจิตรร่วมกับ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพิจิตร และสำนักเกษตรจังหวัดพิจิตร ลงพื้นที่ เพื่อขอรับการสนับสนุนฝนหลวงในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน สำหรับการดำเนินการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรและแก้ปัญหาการการขาดแคลนน้ำของแม่น้ำยมในระยะยาว  สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 3 กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยม 3 แห่ง ประกอบไปด้วย ประตูระบายน้ำท่าแห ตำบลกำแพงดิน มีผลคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 42  ประตูระบายน้ำวังจิก ตำบลวังจิก มีผลคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 42 เช่นกัน ส่วนประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้าง ตำบลโพธิ์ประทับช้าง เริ่มดำเนินงานก่อสร้างในปี 2564 ซึ่งทั้ง 3 โครงการหากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถช่วยเก็บกักน้ำและช่วยให้การบริหารจัดการน้ำในแม่ยมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำของเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ อันจะส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะต่อไป

**********************