สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : กระท่อม ยาขยันพื้นบ้าน

ชื่อวิทยาศาสตร์: Mitragyna speciosa (Roxb.) Korth.

ชื่อวงศ์: RUBIACEAE

ชื่ออื่น: อีถ่าง ท่อม

ลักษณะทั่วไป: ไม้ต้น ใบเดี่ยว  เรียงตรงข้าม ช่อดอกแบบกระจุกกลม ออกที่ปลายกิ่งและง่ามใบ ดอกสีเหลือง ผลเล็ก มีสันตามยาว 10 สัน เมล็ดมีปีก

กระท่อม ยาขยัน สู้งาน สู้ศึก

กระท่อมเป็นต้นไม้ประจำถิ่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถิ่นที่อยู่หลักๆ คือ ประเทศไทยและมาเลเซีย และมีอยู่บ้างในพม่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ประเทศที่มีรายงานการใช้ประโยชน์จากกระท่อมมากที่สุดคือประเทศไทย รองลงไปคือ มาเลเซีย

กระท่อม ที่พึ่งสุขภาพ ก่อนยุคยาแผนปัจจุบัน

กระท่อมเป็นสมุนไพรที่มีระบุไว้ในตำรับยาหลายขนานที่ใช้แก้ปัญหาสาธารณสุขในยุคก่อนปี พ.ศ. 2500 ได้แก่ โรคบิด ท้องเสีย เช่น ยาประสระใบกระท่อม ยาหนุมานจองถนนปิดมหาสมุทร ยาแก้บิดลงเป็นเลือด ยาแก้บิดหัวลูก ยาประสระกาฬแดง ซึ่งมีบันทึกในตำรายาแผนไทย คัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ ชาวบ้านทั่วไปยังใช้ใบกระท่อมปรุงเป็นยาแก้บิด แก้ปวดบวม ปวดเบ่ง แก้ปวดท้อง แก้ปวดท้องร่วง แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ระงับประสาท อดฝิ่น แก้ปวดหัว แก้เบาหวาน แก้ผอมเหลือง และใช้ภายนอกในการรักษาเริม งูสวัด ห้ามเลือด เป็นต้น

มีตำรับยาพื้นบ้านที่ใช้กระท่อมหลายตำรับ เช่น รักษาเบาหวาน โดยนำใบกระท่อมมาย่างไฟ 4-5 ใบ เมื่อย่างไฟให้สีออกเหลืองๆ กรอบๆ แล้วนำมาต้ม ใส่น้ำประมาณ 1 ลิตร ใช้ดื่มแทนน้ำ มีสรรพคุณช่วยลดเบาหวาน กินคุมไปเรื่อยๆ ส่วนการใช้รักษาโรคผิวหนังอย่างเช่น เริม งูสวัด จะเอาใบกระท่อมตำคั้นน้ำทา หรือตำผสมเหล้าทาบริเวณที่เป็นบ่อยๆ เมื่อเด็กนอนไม่หลับ ร้องงอแง ก็จะตำใบโปะกระหม่อมเด็ก

เวลาปวดเมื่อย จะเอาใบกระท่อมบดเป็นผง เอาเฉพาะที่เป็นผงละเอียดผสมน้ำผึ้งทำเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดพุทราไทย กินวันละ 1 เม็ด ส่วนตำรับยาอายุวัฒนะหรือยาบำรุงสมรรถภาพที่คนรู้กันทั่วไปที่เข้าใบกระท่อม คือ ให้เอา หัวแห้วหมู ใบกระท่อม พริกไทยขาว หัวกวาวขาว เนื้อลูกมะขามป้อม สิ่งละ 2 บาท บดเป็นผงผสมน้ำผึ้งปั้นเม็ดเท่าเม็ดพุทรา กินครั้งละ 1 – 3 เม็ด ก่อนอาหาร เช้า – เย็น และมีอีกหลายอาการที่กระท่อมช่วยได้ เช่น ท้องผูกให้เคี้ยวกินใบกระท่อมกับน้ำซาวข้าว ท้องเสียให้นำใบกระท่อมมาห่อน้ำตาลทรายแล้วเคี้ยวกิน และแก้อาการไอที่เกิดจากหวัดโดยใช้ใบผสมน้ำตาลเคี้ยวกิน

กระท่อม จากสมุนไพร กลายเป็นยาเสพติด

ในตำรายาไทยกล่าวว่า ใบกระท่อมมีรสขมเฝื่อนเล็กน้อย ไม่ชวนรับประทาน แต่ถ้ารับประทานเพียงเป็นยา อย่าให้ถึงกับติด ก็จะมีคุณเป็นอันมาก แต่หากกินเป็นประจำทุกวันก็มีโอกาสติดได้ง่าย ถ้าไม่ได้กินแล้วจะไม่มีแรงทำงาน ขาดไม่ได้ จะเกิดอาการปวดเมื่อยตามกระดูก ตามข้อ ส่วนอาการอื่น ๆ ก็มีบ้างเล็กน้อย เช่น หงุดหงิดกระวนกระวาย ง่วงนอนหาวทั้งวัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านที่เคยใช้กระท่อมเล่าว่า เลิกกระท่อมง่ายกว่าเลิกกินหมาก และเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ยิ่งยากกว่าเลิกกระท่อมหลายเท่าตัว

การที่กระท่อมทำให้ติดและมีโทษได้หากใช้ในทางที่ผิดนี้เอง ทำให้มีกฎหมายควบคุมมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2486 โดยมีการตราพระราชบัญญัติพืชกระท่อม ห้ามปลูกและครอบครองรวมทั้งห้ามจำหน่ายและเสพใบกระท่อม ต่อมาพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 จัดกระท่อมเป็นพืชเสพติดให้โทษประเภท 5 เช่นเดียวกับกัญชา โดยห้ามซื้อ ขาย นำเข้า ส่งออก หรือครอบครอง ซึ่งครอบคลุมถึงการปลูก ถ้าตรวจพบต้องตัดทิ้งและทำลาย มีโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีข้อวิจารณ์เกี่ยวกับการกำหนดให้กระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษตั้งแต่ปี 2486 จนมาถึงปัจจุบันว่า การพิจารณาผ่านกฎหมายในครั้งนั้นกระทำค่อนข้างรวบรัด ไม่มีข้อมูลเชิงวิชาการสนับสนุน หรือผลการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพจากการเสพกระท่อม และมี ส.ส.อภิปรายในครั้งนั้นว่า เหตุผลที่แท้จริงการให้เลิกเสพกระท่อมนั้น เพราะไปกระทบรายได้ของรัฐที่ได้จากการเก็บภาษีฝิ่น ในขณะที่กระท่อมไม่มีภาษี เมื่อฝิ่นแพง คนก็หันไปเสพกระท่อมแทน ก็เลยมาห้ามกระท่อม ทั้งๆ ที่ควรจะเลิกฝิ่น จึงจะเห็นได้การตรากฎหมายควบคุมกระท่อมตั้งแต่แรกเริ่มนั้นเป็นเหตุผลเรื่องผลกระทบต่อการเก็บภาษีของรัฐมากกว่าเหตุที่กระท่อมเป็นพืชเสพติดเอง

สมุนไพรมีศักยภาพ ที่ถูกล่ามโซ่ตรวน

การห้ามใช้ห้ามเสพกระท่อมอย่างเข้มงวดและมีโทษรุนแรง ทำให้ชาวบ้านทั่วไปไม่สามารถใช้กระท่อมเป็นยาได้ ความรู้ในการใช้ประโยชน์ก็กำลังจะสูญหายไป นอกจากนี้ยังเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาวิจัยทางการแพทย์และการนำสารสกัดจากกระท่อมมาใช้ในทางการแพทย์ ทั้งๆ ที่ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกมีการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับพืชกระท่อมก้าวหน้าไปมาก ในช่วงเวลา 108 ปี (พ.ศ. 2440 – 2548) นับแต่ชาวต่างชาติมาพบการใช้กระท่อมของคนไทยและมาเลเซีย มีนักวิทยาศาสตร์นำไปศึกษาจนเกิดผลงานวิจัยถึงกว่า 60 ชิ้น ปัจจุบันมีการศึกษาที่พบว่าสามารถจะนำสารสกัดจากกระท่อมไปพัฒนาเป็นยาแก้ปวดชนิดใหม่ในอนาคต ส่วนใหญ่เป็นผลงานการวิจัยของนักวิจัยอังกฤษและญี่ปุ่นที่เห็นคุณค่าของกระท่อมในฐานะที่เป็นยา

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการเสนอแนวคิดให้ถอนพืชกระท่อมออกจากรายชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เพื่อเปิดกว้างให้มีการศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ รวมถึงการใช้ประโยชน์อื่นๆ อย่างเหมาะสม คงต้องรอดูกันต่อไปว่า คนไทยจะได้กระท่อมกลับคืนมาใช้ประโยชน์ในฐานะสมุนไพรได้อีกครั้งหรือไม่

เรื่องน่ารู้

การใช้กระท่อมมีข้อเสีย คือ ทำให้ท้องผูก แต่แก้โดยกินร่วมกับใบชุมเห็ด หากกินกระท่อมมากไปจะทำให้เมา มึนหัว วิงเวียน ซึม หลับ ดื่มน้ำสักพักหรือกินอะไรเปรี้ยวๆ ก็จะหาย ถ้าเคี้ยวแล้วกลืนลงไปเป็นประจำจะทำให้มีกากใบของกระท่อมอยู่ในลำไส้ที่เรียกว่า ถุงท่อม และทำให้มีผิวเกรียมเพราะทนแดดมาก ไม่กลัวแดด แต่กลัวฝนเห็นฝนตั้งเค้าก็จะรู้สึกปวดเมื่อยขึ้นมาทันที เล่ากันว่า บางคนพายเรืออยู่ พอฝนตกก็โดดลงน้ำจมน้ำตายก็มี ผู้ที่ติดกระท่อมไปนานมักจะน้ำหนักลด เบื่ออาหาร อาจทำให้นอนไม่หลับ แต่ถ้าคนไม่เคยกินใบกระท่อม เมื่อเคี้ยวเข้าไปสัก 1-3 ใบ จะมีอาการมึนศีรษะ คอแห้ง คลื่นเหียน บางทีเมาจนต้องนอน

ฤทธิ์และผลข้างเคียงของกระท่อม

  1. เมื่อได้รับในขนาดต่ำ (1-5 กรัม) ผลที่เกิดขึ้น คือ ฤทธิ์กระตุ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใน 10 นาที และอยู่นาน 60-90 นาที มีลักษณะคล้ายกับฤทธิ์ของแอมเฟตามีน (ซึ่งเป็นส่วนประกอบของยาบ้า) แต่น้อยกว่า มีอาการคือ มีความกระปรี้กระเปร่าและความตื่นตัวเพิ่มขึ้น ความอยากอาหารลดลง การเข้าสังคมเพิ่มขึ้น ความต้องการทางเพศสูงขึ้น
  2. เมื่อได้รับในขนาดปานกลางถึงสูง (5-15 กรัม) ฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะคล้ายกับการได้รับยาในกลุ่ม opioid และอยู่ได้นานหลายชั่วโมง คือ ความรู้สึกเคลิ้มสุขในระดับสูง แต่มีฤทธิ์รุนแรงน้อยกว่ายาในกลุ่ม opioid ตัวอื่นๆ  มีอาการต่างๆ ได้แก่ ความเจ็บปวดลดลง ง่วงนอน สงบระงับ และเหมือนอยู่ในความฝัน
  3. เมื่อได้รับกระท่อมสูงกว่า 15 กรัม ผลที่เกิดขึ้นจะคล้ายคลึงกับการได้รับยากลุ่ม opioid ในขนาดสูง ซึ่งได้แก่ การกดประสาทอย่างมาก และบางครั้งก็หมดสติ
  4. ผลข้างเคียงของกระท่อมขึ้นอยู่กับขนาดที่ได้รับ มีความรุนแรง ตั้งแต่รู้สึกไม่สบายจนถึงเป็นอันตราย ได้แก่ การหดตัวของรูม่านตา หน้าแดง อาการสั่น หรือสูญเสียการประสานงาน ท้องผูก เหงื่อออก เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน คัน ผลข้างเคียงที่ร้ายแรง คือ อาการชัก ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเมื่อใช้กระท่อมในขนาดสูงหรือตั้งแต่ 15 กรัม ขึ้นไป
  5. ผลข้างเคียงจากการใช้กระท่อมในระยะยาวได้แก่ การสร้างเม็ดสีที่ผิวหนังมากผิดปกติ หรือผิวหนังมีสีเข้มขึ้น ภาวะเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง และมีอาการของโรคจิต

…………………………………………………………………………………………..