อธิบดีกรมเจ้าท่า นำคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ลงพื้นที่ศึกษาดูงานท่าเรือ เน้นสินค้าอันตราย ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม พร้อมยกร่างกฎหมายให้คลอบคลุมความปลอดภัยในทุกมิติ

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 อธิบดีกรมเจ้าท่า นายวิทยา ยาม่วง พร้อมด้วยผู้บริหารในส่วนกลางและในพื้นที่ นำคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) โดยมีรองศาสตราจารย์ สมยศ เชื้อไทย ประธานฯ และนายวันชัย ศารทูลทัต พร้อมคณะฯ จำนวน 9 คน ลงพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ การท่าเรือแห่งประเทศไทย ท่าเทียบเรือหมายเลข 22 รับฟังบรรยายสรุป โดยผู้บริหารท่าเรือกรุงเทพ หัวข้อบรรยาย “การบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของท่าเทียบเรือ (Port Safety Management) ด้านการรักษาความปลอดภัย (Port Security Management) และด้านสิ่งแวดล้อม (Environment Management) และการจัดการสินค้าอันตราย (Dangerous Cargoes Management) เพื่อรองรับการตรวจประเมินของ IMO

ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้สอบถามถึงปัญหาในการบริหารจัดการสินค้าอันตรายโดยเฉพาะภาคการปฏิบัติ และมีมาตรฐานความปลอดภัยรองรับ โดยในมิติของกฎหมายที่ดำเนินการมีทั้งกฎหมายด้านความปลอดภัย กฎหมายแรงงาน รวมถึงกฎหมายฉบับการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือ (ฉบับที่..) พ.ศ. … หมวดว่าด้วยท่าเรือ ฉบับนี้ จึงต้องระวังประเด็นการทับซ้อนของกฎหมาย และควรเป็นอำนาจที่เบ็ดเสร็จที่อยู่ภายใต้การกับดูแลของกรมเจ้าท่า ที่สามารถมอบอำนาจบางส่วนให้การท่าเรือฯ และต้องนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้อง และชัดเจน

นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวเพิ่มเติมว่า การบังคับใช้กฎหมายเป็นปัญหาที่ต้องการท่าเรือฯ ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งปัจจุบันมีทั้งการบังคับใช้กฎหมายของการท่าเรือฯ เอง ท่าเรือ ท่าเรือเอกชน และท่าเรือของรัฐ ที่ต้องจริงจังในการกำกับลงไปถึงภาคปฏิบัติ เช่น การทำแผนรักษาความปลอดภัย (ISPS CODE) แผนเกี่ยวกับสินค้าอันตราย (IMDG CODE) ที่ต้องมีการทั้งการป้องกัน ภาวะวิกฤติ และเยียวยา ซึ่งขณะนี้กรมเจ้าท่า กำลังจัดทำระเบียบมาตรฐานอุปกรณ์จำเป็นขั้นต่ำประจำท่าเรือ โดยการท่าเรือฯ ต้องนำทั้งหมดนี้มาบังคับให้ผู้ใช้ปฏิบัติตาม พร้อมย้ำให้ผู้มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามแผน เมื่อเกิดสถานการณ์จริงต้องสามารถทำตามบทบาทที่กำหนดไว้อย่างถูกต้องและชัดเจน

จากนั้น ได้เดินทางไปยังท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี โดยเรือตรวจการณ์ 803 ของกรมเจ้าท่า ระยะทางประมาณ 50 ไมล์ทะเล ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง และเดินทางถึงท่าเทียบเรือแหลมฉบัง เพื่อไปยังท่าเทียบเรือชุด D (บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด) ผ่านจุดคัดกรองตามมาตรการป้องกันโรคโควิด – 19 พร้อมรับฟังบรรยายสรุป โดยผู้บริหารท่าเรือแหลมฉบัง และบริษัท ฮัทชิสันฯ ถึงการประกอบกิจการของท่าเทียบเรือชุด D (บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบังเทอร์มินัล จำกัด) และเยี่ยมชมการปฏิบัติงานภายในท่าเทียบเรือชุด D ซึ่งความพร้อมทั้งด้านการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของท่าเทียบเรือ การรักษาความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดการสินค้าอันตราย ที่ตอบโจทย์การศึกษาดูงานของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เพื่อนำไปเติมเต็มการประกอบการยกร่างกฎหมายฉบับการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือ (ฉบับที่..) พ.ศ. … หมวดว่าด้วยท่าเรือ ให้คลอบคลุมในทุกมิติต่อไป

……………………………….