สธ. เตรียมจัด ‘ก้าวท้าใจ Season 3 100 วัน 100 กิโลเมตร’ เปิดตัว 15 กุมภาพันธ์นี้

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมจัดกิจกรรมโครงการก้าวท้าใจ Season 3 100 วัน 100 กิโลเมตร กำหนดเปิดตัว 15 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ โดยขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังสถานประกอบการ ชุมชน และสถานศึกษา พร้อมทั้งสามารถสะสม Health Point หรือแต้มสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ในกิจกรรมต่าง ๆ เป็นการสร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นการออกกำลังกายของประชาชนเพิ่มมากขึ้น

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมชี้แจงการดำเนินงานกิจกรรมก้าวท้าใจ Season 3 ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข อาคาร 5 ชั้น 7 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า กระทรวงสาธารณสุขมุ่งเน้นสร้างเสริมให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้อง ส่งเสริมการออกกำลังกายโดยให้ชุมชนเป็นฐานในการสร้างสุขภาวะที่ดี ส่งเสริมให้บุคลากรสาธารณสุขเป็นต้นแบบด้านสุขภาพ (Health Model) ร่วมกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการส่งเสริมการออกกำลังกาย ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการโครงการ   ก้าวท้าใจ Season 1 60 วัน 60 กิโลเมตร มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 480,115 คน ระยะทางสะสมทั้งหมด 20,714,388 กิโลเมตร และก้าวท้าใจ Season 2 60 วัน 6,000 กิโลแคลอรี มีการใช้พลังงานสะสมทั้งหมด 988,151,245 กิโลแคลอรี สำหรับในปี 2564 นี้ กระทรวงสาธารณสุขกำหนดดำเนินการโครงการก้าวท้าใจ Season 3 100 วัน 100 กิโลเมตร ซึ่งจะเปิดตัวในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ และเริ่มเก็บคะแนนสะสมได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 8 มิถุนายน 2564 รวมระยะเวลา 100 วัน

“ทั้งนี้ สามารถลงทะเบียนผ่าน Line @Thnvr เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมได้ทั้งสมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ และมีการคัดกรองสุขภาพโดยการประเมินค่าดัชนีมวลกาย ส่งผลและรายงานผลการออกกำลังกาย และขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังสถานประกอบการ ชุมชน และสถานศึกษา รวมทั้งมีการจัดแข่งขันภายในกลุ่มและเปรียบเทียบกลุ่ม พร้อมทั้งสามารถสะสม Health Point หรือแต้มสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ในกิจกรรมต่าง ๆ เป็นการสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นการออกกำลังกายของประชาชนเพิ่มมากขึ้น เพื่อใช้แลกสิทธิ์ในการลุ้นของรางวัล และเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพ โดยการได้รับรางวัลแบ่งเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) รางวัลสาหรับผู้ที่สามารถพิชิต 100 วัน 100 กิโลเมตร 2) Lucky draw และ 3) ใช้ Health Point แลกรับของรางวัล” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กลุ่มวัยทำงานเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ต้องการให้มีส่วนร่วมในโครงการนี้ เพราะการออกกำลังกายในวัยนี้นับว่ามีความจำเป็นมาก เพราะร่างกายต้องได้รับการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูงและอ้วน พร้อมทั้งเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค นอกจากนี้การออกกำลังกายยังทำให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียดได้ ช่วยให้การทำงานของปอด หัวใจ กล้ามเนื้อแข็งแรง ทั้งยังช่วยให้ระบบการไหลเวียนของเลือดมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกลุ่มวัยทำงาน ควรเคลื่อนไหวออกกำลังระดับปานกลางอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน ๆ ละ 30 นาที ควรมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนการออกกำลังกาย และไม่ควรหักโหมมากเกินไปเพราะจะทำให้เกิดโทษต่อสุขภาพได้เช่นกัน สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์

………………………………………………

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 5 กุมภาพันธ์ 2564