สธ.ร่วม 4 หน่วยงาน ปูพรมตรวจ 9 จุดทั่ว กทม. ปิดฉากขบวนการอุ้มบุญข้ามชาติ

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กรมสอบสวนคดีพิเศษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บุกรวบนายหน้าและหญิงอุ้มบุญในบ้านพัก 9 จุด ทั่วกรุงเทพฯ พบชาวต่างชาติเป็นหัวหน้าขบวนการชักชวนหญิงไทยให้รับจ้างอุ้มบุญ จึงสั่งฟันโทษตามกฎหมายทันที พร้อมขยายผลสืบสวนหาผู้ร่วมขบวนการต่อไป

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ณ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) พร้อมด้วย ผู้บังคับบัญชากองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตรวจคนเข้าเมือง และผู้บริหารจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม/กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการลงพื้นที่กวาดล้างขบวนการอุ้มบุญข้ามชาติ

ดร.สาธิตฯ ให้สัมภาษณ์ว่า สืบเนื่องจากการหารือร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถึงผลการวินิจฉัยและตรวจดีเอ็นเอ (DNA) ระหว่างแม่และเด็กรายหนึ่ง ว่าไม่ใช่บุตรสืบสายโลหิต กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจึงดำเนินการตรวจสอบข้อมูลของกรณีดังกล่าวว่าเกิดจากการรับตั้งครรภ์แทนโดยผิดกฎหมายหรือไม่อย่างไร โดยมีการตรวจสอบข้อมูลการใช้สื่อโซเชียลของมารดาจนพบเบาะแส ว่ามีเด็กทารกจำนวนหนึ่ง ที่เกิดโดยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์และถูกนำมาเลี้ยงโดยกลุ่มบุคคลต่างด้าวในย่านรามคำแหง ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมาย “พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558” และกฎหมายอื่นๆอีกหลายฉบับ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ทำการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหยุดการกระทำที่ผิดต่อทั้งกฎหมาย และมนุษยธรรมดังกล่าว จนเป็นที่มาของยุทธการตรวจปูพรม 9 จุดในวันนี้ ซึ่งในการลงพื้นที่ตรวจสอบในเบื้องต้นของพนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ตำรวจในบ้านพักทั้ง 9 จุด พบเด็กทารกอายุไม่ถึงหนึ่งปีซึ่งต้องสงสัยว่าเกิดจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ทั้งยังพบชาวต่างชาติที่รับหน้าที่เป็นนายหน้าชักชวน และหญิงรับจ้างอุ้มบุญอีกจำนวนหนึ่ง โดยการจับกุมในครั้งนี้สามารถจับกุม นางหลิน ชาวต่างชาติซึ่งคาดว่าเป็นหัวหน้าขบวนการอุ้มบุญข้ามชาติ โดยในเบื้องต้นพนักงานเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหาการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ฐานดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้าตามมาตรา 24 มีอัตราโทษตามมาตรา 48 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท ก่อนส่งตัวให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวไปสอบสวนขยายผลหาผู้ร่วมขบวนการมาลงโทษตามกฎหมายต่อไป

ด้าน นพ.ธเรศฯ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ของนั้นมีความก้าวหน้าและทันสมัยอยู่ในอันดับต้นๆของโลก มีอัตราความสำเร็จในการให้บริการตั้งครรภ์โดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 46 และด้วยอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ที่สูง จึงทำให้ทั้งนายหน้า และคู่สมรสบางรายยอมเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อว่าจ้างหญิงไทยให้รับจ้างตั้งครรภ์ ซึ่งการรับจ้างอุ้มบุญนั้นนอกจากจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายของประเทศไทยแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพและก่อให้เกิดปัญหาในด้านมนุษยธรรมต่อเด็กที่เกิด ยิ่งในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งหลายประเทศมีการปิดน่านฟ้า ส่งผลให้หญิงที่รับจ้างอุ้มบุญไม่สามารถเดินทางไปคลอด ณ ประเทศปลายทางได้อย่างกรณีที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กที่คลอดออกมาแล้วก็จะทำให้เกิดปัญหาการทอดทิ้งเด็ก หรือปัญหาในการกำหนดสิทธิ์ความเป็นบิดา-มารดา และหากลักลอบเดินทางผ่านช่องทางธรรมชาติก็มีความเสี่ยงที่จะติดโรคโควิด 19 และถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในฐานลักลอบเข้าประเทศอีกด้วย จึงขอให้คิดไตร่ตรองให้ดีก่อนดำเนินการใดๆ ทั้งนี้หากพบเห็นหรือทราบเบาะแสการกระทำผิดกฎหมายเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ทั้งรับจ้างอุ้มบุญ โฆษณาชักชวนให้รับจ้างอุ้มบุญ หรือขายไข่-อสุจิ ฯลฯ ขอให้แจ้งมาที่สายด่วนกรม สบส. 1426 กรม สบส.จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดโยไม่มีการละเว้นแต่อย่างใด

******************** 5 กุมภาพันธ์ 2564