กรมควบคุมโรค ร่วมกับเครือข่าย ชวนประชาชนร่วมวิ่งออกกำลังกายตามโครงการ “หมอชวนวิ่ง”

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับเครือข่าย ชวนประชาชนร่วมวิ่งออกกำลังกาย   ตามโครงการ “หมอชวนวิ่ง” เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สร้างเสริมให้มีภูมิต้านทานต่อการเจ็บป่วย ลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง พร้อมแนะ 8 ข้อสำหรับนักวิ่ง

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 ที่ศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้รับมอบหมายจากนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นตัวแทนประธานสายวิ่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NE 4 จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม นครราชสีมา) ในโครงการหมอชวนวิ่ง โดยแพทยสภา ร่วมกับเครือข่าย  ชมรมนักวิ่งทั่วประเทศและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมสนับสนุนกิจกรรมวิ่งออกกำลังกาย  เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุยเดชวิกรมพระบรมราชชนก และในวาระครบรอบ   50 ปีแพทยสภา วาระ 100 ปีการสาธารณสุขไทย โดยมีนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร นายบุญธรรม วิเศษลา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมุกดาหาร นายแพทย์จักราวุธ จุฑาสงฆ์  นายแพทยสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร เพื่อส่งเสริมบุคลากรทางการแพทย์ให้เป็นต้นแบบการออกกำลังกาย พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนมาร่วมวิ่งออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง สร้างเสริมให้มีภูมิต้านทานต่อการเจ็บป่วย และยังลดโอกาสเสี่ยงในการเจ็บป่วยจากโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

นายแพทย์อัษฏางค์ กล่าวว่า การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะมีสุขภาพที่แข็งแรงแล้ว ยังช่วยป้องกันและลดการป่วยจากกลุ่มโรคเอนซีดี (NCDs) ซึ่งเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อที่ป้องกันได้ แต่เกิดจากการมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทั้งการบริโภคและพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิต  ด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง หากรู้ตัวก่อนก็ยิ่งป้องกันการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (ก่อนอายุ 75 ปี) ได้ตัววัดที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้ทำนายได้ว่าภายในอีก 10 ปีข้างหน้า จะป่วยด้วยโรคเอนซีดีหรือไม่  ด้วยตัววัดต่อไปนี้ คือ 1.น้ำหนักเกิน ใช้เกณฑ์ดัชนีมวลกายปกติที่ไม่เกิน 25 2.ค่าความดันโลหิตสูง โดยทั่วไป ในผู้ใหญ่ถือว่าค่าความดันตัวบนไม่เกิน 140 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันตัวล่างไม่เกิน       90 มิลลิเมตรปรอท 3.อ้วนลงพุงมีเกณฑ์ เส้นรอบเอวที่มากกว่าค่า ส่วนสูงหาร 2 4.ประวัติเคยสูบบุหรี่    แม้ว่าปัจจุบันเลิกสูบก็ยังมีความเสี่ยง ตามจำนวนปีที่สูบ 5.ประวัติการดื่มสุรา ยิ่งดื่มหนักมานาน ยิ่งมีความเสี่ยงสูง

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำ 8 ข้อสำหรับนักวิ่ง ดังนี้ 1.รู้จักสภาพร่างกายตัวเองว่ามีโรคประจำตัว  ที่เสี่ยงต่อการออกกำลังหรือไม่ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น 2.หมั่นสังเกตสภาพร่างกายตัวเองขณะวิ่ง    ถ้ามีอาการหน้ามืด เวียนศรีษะ แน่นหน้าอก หรือมีอาการผิดปกติใดๆ ให้หยุดพักทันที 3.อบอุ่นร่างกาย     ด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนวิ่ง และให้ผ่อนคลายร่างกายหลังวิ่ง โดยค่อยๆ ลดความเข้มข้นของการวิ่งในช่วงท้ายของการวิ่งทุกครั้ง 4. ท่าวิ่งที่ดีควรมีลำตัวตั้งตรง วิ่งลงสันเท้าและยกตัวด้วยปลายเท้า แกว่งแขนเหนือเอวเพื่อสร้างสมดุลในขณะวิ่ง 5.การวิ่งให้ได้ระยะทางไกล จะต้องค่อยๆ ฝึกเพิ่มความเร็ว และเพิ่มระยะเวลา อย่างค่อยเป็นค่อยไป 6.การซ้อมวิ่งอาจเพิ่มความชันของเส้นทางวิ่ง หรือลองใช้เทคนิควิ่งเร็วสลับกับวิ่งช้าๆได้ 7.ตารางฝึกวิ่งควรมีวันฝึกหนักสลับกับวันฝึกเบา และให้มีวันหยุดพักบางระหว่างสัปดาห์ 8.การฝึกวิ่งที่ดีอาจมีการเสริมสร้างความทนทานของกล้ามเนื้อร่วมด้วย

 

**************************************************

ข้อมูลจาก : สำนักโรคไม่ติดต่อ / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค