ระดมสมองภาคีเครือข่าย เตรียมจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2

วันที่ 4 ก.พ.64 เวลา 13.30 น. นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารและเตรียมความพร้อมกลุ่มเครือข่ายในการจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 พ.ศ.2564 โดยมี คณะอนุกรรมการบริหาร ประกอบด้วย หน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร อาทิ สำนักอนามัย สำนักพัฒนาสังคม สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักงานประชาสัมพันธ์ และหน่วยงานภายนอก อาทิ สำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 15 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง

ตามมติคณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร (คจ.สก.) เมื่อวันที่ 20 ม.ค.64 เห็นควรให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมกลุ่มเครือข่ายในการจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร เกิดความสำเร็จเป็นรูปธรรมตามเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มีประสิทธิภาพ และทุกภาคส่วนในกรุงเทพมหานครมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยมีคณะอนุกรรมการ ดังนี้ นายชวินทร์ ศิรินาค ประธานอนุกรรมการ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี รองประธานอนุกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กทม. ผู้อำนวยการสำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม. ประธานอาสาสมัครสาธารณสุข กทม. ประธานสภาองค์กรชุมชนเขตธนบุรี ประธานสภาเด็กและเยาวชนกทม. ประธานอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นอนุกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ ผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กทม. ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพ ที่ได้รับมอบหมาย เจ้าหน้าที่สำนักอนามัย กทม. ที่ได้รับมอบหมาย เจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาสังคม กทม. ที่ได้รับมอบหมาย เจ้าหน้าที่สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ โดยมีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้

1.ทบทวนการสร้างกลุ่มเครือข่ายสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร

2.วางแนวทางการสร้างการรับและทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสมัชชาสุขภาพและบทบาทของผู้แทนกลุ่มเครือข่ายที่จะเข้าร่วมสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร

3.ประสานงานกับหน่วยงาน องค์กร ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ความคิดเห็นต่อข้อเสนอเชิงนโยบายแบบมีส่วนร่วม

4.สนับสนุนให้ประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของในเวทีสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร

5.ดำเนินการอื่นๆ เพื่อให้การจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

6.ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ คจ.สค. มอบหมาย

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้รายงานผลการจัดประชุมสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 พ.ศ.2563 เมื่อวันที่ 26 พ.ย.63 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 โดยมีรูปแบบการประชุมทั้งในสถานที่ และการสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ทางเฟสบุ๊คนั้น ผลการจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 มีดังนี้

1.ที่ประชุมครือข่ายสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบต่อระเบียบวาระทั้ง 2 เรื่อง ได้แก่ ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร และการจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของกรุงเทพมหานคร

2.จำนวนผู้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร จากจำนวนผู้ที่ได้รับเชิญประชุม 400 คน มีผู้เข้าร่วมการประชุม จำนวนทั้งสิ้น 335 คน ในจำนวนนี้เป็นภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร จำนวน 112 คน

3.ผลการสื่อสารและการสร้างการรับรู้ทางสังคม มีผู้เข้าร่วมรับชม ผ่าน Facebook fanpage : กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ จำนวน 2.6 พันครั้ง และมีการรายงานข่าวกสารจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ตามสื่อต่างๆ อาทิ มติชนออนไลน์ ข่าวสด กรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร เป็นต้น

4.ผลจากการประเมินความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมการประชุม จากเกณฑ์การให้คะแนน 1-5 เรียงลำดับจากน้อยไปหามากพบว่า โดยภาพรวมอยู่ที่ระดับ 3.84 คะแนน อยู่ในเกณฑ์พึงพอใจมาก และ

5.ผลจากการสรุปบทเรียนการจัดสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 1 พบว่าผลสำเร็จที่เกิดขึ้น ซึ่งทุกภาคส่วนตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วม เกิดบรรยากาศของการรับฟังและเข้าใจถึงข้อจำกัดของกันและกันมากขึ้น เกิดมติที่ได้รับการยอมรับทุกภาคส่วน วิธีการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพและประหยัด ส่วนข้อจำกัด ได้แก่ ระยะเวลาในการเตรียมงานสั้นเกินไป มีผลทำให้การพัฒนางานวิชาการและการสื่อสารสร้างการรับรู้ไม่สามารถลงรายละเอียดครอบคลุมไปยังทุกภาคส่วนได้อย่างแท้จริง สถานที่ที่ใช้ในการจัดงานมีข้อจำกัด เช่น สัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ดี ส่งผลต่อระบบลงทะเบียนออนไลน์ และการสื่อสารแบบออนไลน์ สำหรับบทเรียนในการดำเนินงานปีต่อไป แม้ว่าระเบียบวาระทั้ง

6 เรื่อง จะได้ความเห็นชอบจากเครือข่ายสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร แต่ยังขาดความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของทำให้เห็นเจ้าภาพที่จะนำมติไปขับเคลื่อนไม่ชัดเจน ดังนั้นในการจัดสมัชชาสุขภาพครั้งต่อไป ควรให้ความสำคัญต่อการสร้างพันธะสัญญาในการขับเคลื่อนร่วมกันด้วย อีกทั้งควรมีการวิเคราะห์กลุ่มเครือข่ายสมาชิกสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานครให้ชัดเจนทั้งในเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่ และมีกระบวนการเตรียมความพร้อมสร้างความเข้าใจกับผู้แทนกลุ่มเครือข่ายถึงกระบวนการสมัชชาสุขภาพและบทบาทในฐานะผู้แทนของกลุ่มเครือข่ายที่จะเข้าร่วมกระบวนการสมัชชาสุขภาพ ตลอดจนพิจารณาเลือกสถานที่จัดงานให้เหมาะสมต่อรูปแบบการจัดงานในปีต่อไป
—–