โควิด-19 ระลอกใหม่ กับมลภาวะทางอากาศที่เปลี่ยนไป

ปี 2020 เป็นปีที่ประชากรโลกประสบกับการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรคโควิด-19 ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศไทย การรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มาตรการต่างๆถูกนำมาใช้เพื่อบริหารจัดการและควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา และหนึ่งในมาตรการนั้นคือ “ล๊อกดาวน์ (lockdown)” ซึ่งส่งผลกระทบทำให้เกิดการปิดตัวทางเศรษฐกิจและสังคม กิจกรรมต่างๆ ต้องหยุดชะงัก เช่น การรวมกลุ่มกันทำกิจกรรม การปิดห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร อีกทั้งการคมนาคมบนท้องถนนที่ลดลง รวมถึงการส่งเสริมแคมเปน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ทำให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้ติดตามสถานการณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด19 โดยพบว่า ช่วงที่มีการล๊อกดาวน์ เกิดการเปลี่ยนแปลงบนพื้นโลกที่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนจากภาพดาวเทียม นั่นคือ ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ที่เกิดจากการคมนาคมขนส่งและยานพาหนะ เช่น มลพิษจากท่อไอเสียของรถยนต์ มีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ภาพจากดาวเทียม Ozone Monitoring Instrument (OMI) ที่ติดตั้งบนดาวเทียม Aura ของ NASA สามารถตรวจวัดค่า NO2 โดยเทียบรายเดือนระหว่างปี 2019 กับ 2020 พบว่า ภาพรวมค่าเฉลี่ย NO2 ของปี 2020 จะน้อยกว่าปี 2019 โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าเฉลี่ย NO2 ของเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2020 ลดลงอย่างชัดเจน (ปรากฎสีน้ำเงิน) ซึ่งในช่วง 2 เดือนดังกล่าวเป็นช่วงที่ประเทศไทยใช้มาตรการ “ล๊อกดาวน์” อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมไปถึงเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุนในแต่ละภูมิภาคของประเทศ และเมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น มาตรการต่างๆ เริ่มมีการยืดหยุ่น ผ่อนคลาย และปลดล๊อกบางมาตรการ ทำให้ค่า NO2 ตั้งแต่หลังเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา เริ่มมีความใกล้เคียงกับค่า NO2 ในปี 2019
สำหรับการระบาดระลอกใหม่ในช่วงปลายปี 2020 แม้รัฐบาลจะไม่ประกาศล๊อกดาวน์ แต่ก็มอบหมายให้แต่ละจังหวัดกำหนดมาตรการต่างๆ ตามความเหมาะสม งดจัดกิจกรรมต่างๆรวมไปถึงการเฉลิมฉลองในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ อีกทั้งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรม หลายๆกิจกรรมให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ค่า NO2 ในช่วงเดือนธันวาคมในปี 2020 ลดลงจากปี 2019 อีกครั้ง ทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือของภาคประชาชนตลอดจนหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างเห็นได้ชัด

ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ NO2 หรือ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดคุณภาพอากาศ ที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลง โรงงานอุตสาหกรรม การขนส่ง การเดินทาง เป็นต้น ซึ่งก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์มีศักยภาพสูงในการสร้างมลพิษจึงจัดว่าเป็นหนึ่งในก๊าซที่ทำให้เกิดมลพิษในอากาศและเป็นอันตรายต่อมนุษย์
NO2 และออกไซด์ของไนโตรเจน เป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจและความเสียหายต่อปอดหากรับเข้าไปแบบเฉียบพลัน และเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคเรื้อรังหากรับเข้าไปในระยะยาว และยังนำไปสู่การก่อตัวของ PM2.5 และโอโซน ซึ่งมลพิษทางอากาศที่มีบทบาทสำคัญต่อผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน