สธ.ย้ำผ่อนคลายมาตรการ 1 ก.พ. ยังต้องเข้มป้องกันโควิด ไม่ใช้ชีวิตบนความเสี่ยง

กระทรวงสาธารณสุข แจงไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้ออาจปรับเปลี่ยนได้ตามหลักฐาน หลังสอบสวนเข้มตรวจทานข้อมูลให้ตรงกัน ระบุกินอาหารร่วมกันนานๆ ปาร์ตี้ สังสรรค์ คนในครอบครัว สถานที่อากาศไม่ถ่ายเท จุดสำคัญการติดเชื้อ ย้ำผ่อนคลายมาตรการ 1 ก.พ. ยังต้องเข้มมาตรการป้องกันโรค เลือกใช้ชีวิตประจำวันแบบไม่มีความเสี่ยง ช่วยลดแพร่โรค กำชับจังหวัดชายแดนใต้เข้มเฝ้าระวังลักลอบข้ามแดนจากมาเลเซีย

วันที่ 31 มกราคม 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 829 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 822 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 7 ราย ทำให้ผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ (วันที่ 15 ธันวาคม 2563–31 มกราคม 2564) มีจำนวน 14,545 ราย ทั้งนี้ ในช่วง 4-5 วันที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 700-800 ราย เกินกว่า 96% อยู่ใน จ.สมุทรสาคร มาจากการค้นหาเชิงรุกที่ตั้งเป้าตรวจอย่างน้อยวันละ 1 หมื่นราย และจะนำข้อมูลผลการตรวจเชื้อไปปรับมาตรการควบคุมโรคต่อไป ส่วนจังหวัดอื่นๆ ควบคุมสถานการณ์ได้ดีและรวดเร็ว เมื่อพบผู้ติดเชื้อมีการสอบสวนโรคและกักกันผู้สัมผัส ทำให้ไม่มีการแพร่ระบาดเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ประเทศเพื่อนบ้านยังคงพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนใต้ยังต้องเฝ้าระวังการลักลอบเข้าประเทศอย่างเข้มงวด เนื่องจากมาเลเซียยังมีการระบาดสูงและมีมาตรการล็อกดาวน์ ให้คนต่างชาติกลับประเทศ ขณะนี้ยังพบผู้ลักลอบเข้ามาทางพรมแดนธรรมชาติ เช่นกรณีหญิงอายุ 31 ปี ทำงานสถานบันเทิงในมาเลเซีย เดินทางข้ามพรมแดนธรรมชาติมากับหญิงไทยอีก 2 คน นั่งรถจากสุไหงโกลกถึงหาดใหญ่ และเช่ารถตู้มาสถานีขนส่งหมอชิต กทม. ต่อมาไปตรวจรักษาที่ รพ.สมุทรปราการ แล้วพบเชื้อโควิด 19 จึงขอให้ผู้ที่มีญาติทำงานอยู่ในต่างประเทศและผู้ที่จะเดินทางกลับเข้าประเทศ เข้ามาตามระบบเพื่อรับการกักกัน หากติดเชื้อจะได้รับการดูแลรักษาเพื่อไม่ให้แพร่เชื้อสู่ชุมชน และไม่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

“การสอบสวนโรคเราไม่ได้เชื่อไทม์ไลน์ที่ผู้ป่วยให้ทั้งหมด เนื่องจากมีการให้ข้อมูลจริงและไม่จริง หรือบางครั้งจำไม่ได้ ต้องเอาหลักฐานต่างๆ มาประกอบกัน ไทม์ไลน์กับจุดเชื่อมโยงจึงไม่สามารถบอกได้ในวันเดียว ต้องมีการสอบทานว่าให้ข้อมูลตรงกันครบถ้วนหรือไม่ กว่าจะได้ข้อมูลก็ใช้เวลาเช่นกัน และบางกรณีไทม์ไลน์อาจเปลี่ยนแปลงจากหลักฐานที่ไม่สอดคล้องกันก็ไม่ต้องกังวล เนื่องจากวัตถุประสงค์ของไทม์ไลน์ คือ ต้องการให้เห็นว่าผู้ติดเชื้อไปตรงไหนบ้าง เพื่อแจ้งประชาชนที่อยู่จุดเดียวกันมารับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ในการสอบสวนโรคเพื่อไม่ให้โรคแพร่ระบาด เช่น กรณีลักลอบเดินทางมาจากมาเลเซียมีการตรวจสอบกล้องวงจรปิด พบว่าสวมหน้ากากตลอดตามที่ให้ข้อมูล ทำให้ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ หรือกรณีสมุทรปราการที่ติดเชื้อในบริษัท 21 ราย ก็ใช้เวลาสอบทานข้อมูลจนถึงได้ไทม์ไลน์และจุดเชื่อมโยง” นายแพทย์โอภาสกล่าว

นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า กรณี จ.สมุทรปราการพบว่าเกี่ยวเนื่องกับ 2 เหตุการณ์ คือ บริษัทพนักงานหญิงเมียนมาอายุ 19 ปีติดเชื้อคนแรก จากการตรวจคนในบริษัท 281 คน พบติดเชื้อ 18 คน เป็นเมียนมา 15 คน คนไทย 2 คน และกัมพูชา 1 คน นอกจากนี้ ยังไปตรวจเชิงรุกในชุมชนตลาดโต้รุ่งพบผู้ติดเชื้ออีก 2 คน เนื่องจากเป็นชุมชนแออัด มีคนกว่า 2 พันคนจึงลงไปตรวจหาเชื้ออีกครั้ง ถือว่าควบคุมได้รวดเร็ว ติดตามผู้สัมผัสได้ ส่วนกรณีไอคอนสยามเป็นการติดเชื้อในพนักงานร้านอาหารจากการมีกิจกรรมงานเลี้ยงในกลุ่ม โดยตรวจพนักงานกว่าร้อยคนพบการติดเชื้อ 7 ราย และได้ปิดสถานที่ ทำความสะอาดตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ถือว่าควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ส่วนไทม์ไลน์ที่มีการออกมาเพิ่มนั้น เป็นการทำไทม์ไลน์อย่างละเอียดของผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบ 7 ราย ถือเป็นกรณีเดิมไม่ใช่กรณีใหม่ สำหรับกรณีกลุ่มเสี่ยงสูง แม้ว่าผลตรวจ 2 ครั้งไม่พบเชื้อ ก็จะต้องกักตัวอยู่ที่บ้านจนครบ 14 วัน และปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้คนในชุมชนปลอดภัย

“การติดเชื้อไม่ได้ติดได้ง่ายๆ ไม่ใช่ว่าเดินผ่านแล้วติด เราไม่พบการติดเชื้อจากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นรถไฟฟ้า รถเมล์แล้วติดเชื้อ จุดสำคัญการติดเชื้อ คือจากการไม่สวมหน้ากาก ไม่เว้นระยะห่าง นั่งใกล้ชิดกัน อยู่ในสถานที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท บริเวณจุดสัมผัสในห้องน้ำ การรับประทานอาหารร่วมกันนานๆ งานปาร์ตี้สังสรรค์ คนในบ้านที่อยู่ใกล้ชิดร่วมกัน เพื่อนร่วมงาน สถานบันเทิง ดังนั้น ประชาชนอย่าเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในจุดเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง โดยเราสามารถเลือกการใช้ชีวิตได้ เช่น เลือกซื้อของกับคนที่ป้องกันใส่หน้ากาก สถานบันเทิงที่กลับมาเปิดดื่มสุราได้ ต้องเลือกร้านที่พนักงานใส่หน้ากาก อากาศถ่ายเทสะดวก และเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ จังหวัดพื้นที่สีเขียวใช้ชีวิตได้ตามปกติ แบบ New Normal คือ ต้องใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ก็จะปลอดภัยมากขึ้น รวมทั้งสแกนไทยชนะ ลงทะเบียนหมอชนะ เพื่อช่วยให้การสอบสวนโรคสะดวก ควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว” นายแพทย์โอภาสกล่าว

********************** 31 มกราคม 2564